ว่านตระกูลที่เรียกว่า “เศรษฐี…” (ตอนที่ ๑)

ท่ามกลางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ลุ่มๆดอนๆ มาโดยตลอด อันนับเป็นเรื่องปกติของบุคคลที่เกิดมาในยุคสมัยที่คนอายุเฉลี่ยไม่ถึง ๑๐๐ ปีในยุคนี้ ยุคที่โลกล้วนเต็มไปด้วยกองทุกข์ อันเป็นที่ให้ผู้มีปัญญาได้มาบ่มเพาะปัญญาบารมี ให้เห็นซึ่งทุกข์ ให้เห็นซึ่งอริยสัจ ๔ อันจักเป็นบาทฐาน เป็นเครื่องดำรงตนให้ย่างเข้าสู่เส้นทางพระนิพพานโดยไม่เนิ่นช้า เข้าถึงสถานที่อันเป็นที่แห่งเอกันตบรมสุข คือสถานที่ที่มีแต่ความสุขเพียงอย่างเดียวไม่มีทุกข์เจือปนแม้แต่น้อย และเป็นสถานที่ไม่เคลื่อนไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดให้กลับมาเสวยทุกข์อีกต่อไป…

ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่จะใช้ชีวิตอย่างทุกข์น้อยที่สุด ตามความเข้าใจของคนจำนวนไม่น้อย ก็คือการมีเงินทองเยอะๆ อันจะช่วยซื้อหาปัจจัยสี่ หรือปัจจัยที่ห้าหกเจ็ด ก็ตามแต่ละคนจะสรรหา พื้นฐานดังกล่าวจึงบังเกิดความเชื่อความศรัทธา ในเครื่องรางของมงคล ตลอดจนเคล็ดลางต่างๆ ที่ใช้เสริมให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย มาตลอดทุกยุคทุกสมัย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของต้นไม้ที่เรียกว่า “ว่าน”

ภาพแสดงเนื้อหาว่านกลุ่มเศรษฐี ในตำรา “ตำหรับ กระบิลว่าน”  โดย หลวงประพัฒสรรพากร

เหตุนี้นี่เองจึงเป็นบาทฐานที่สำคัญที่ทำให้เกิดว่านในกลุ่มที่เรียกว่า “เศรษฐี” นี้ขึ้นมา ว่านที่เชื่อกันว่าหากใครได้ปลูกเลี้ยงไว้แล้วจะสามารถเสริมโชคลาภให้บังเกิดขึ้นแก่ผู้ปลูกเลี้ยงตลอดจนถึงครอบครัว และยังเป็นเครื่องเสี่ยงทายโชคลาภวาสนาของผู้ปลูกเลี้ยง โดยหากว่านออกดอกหรือเจริญงอกงามดีแสดงว่าโชคลาภวาสนาของเจ้าของกำลังขึ้นสู่จุดสูง หรือเรียกว่าดวงกำลังขึ้นนั่นเอง

ว่านกลุ่มนี้มีชื่อเรียกขานเก่าแก่เท่าที่สามารถสืบค้นได้คือ พบในตำรา “ตำหรับ กระบิลว่าน”  โดย หลวงประพัฒสรรพากร ซึ่งพบเพียง ๒ ชื่อเท่านั้นคือ ว่านเศรษฐีเรือนใน และว่านเศรษฐีเรือนนอก(๑)

 

เล่มต่อมาคือ “คู่มือนักเล่นว่าน” โดย ล.มหาจันทร์ กล่าวถึง ว่านเศรษฐีธรรมดา เพิ่มขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง และกล่าวว่าว่านกลุ่มนี้มีการเล่นหามาช้านานตั้งแต่สมัยสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พระราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ ๕ แห่งราชวงศ์สุโขทัย) ทรงเสวยราชสมบัติใหม่ๆ ราวปี พ.ศ. ๒๑๕๔ ก่อนที่จะค้นพบรอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ว่านกลุ่มนี้เป็นกลุ่มว่านเสี่ยงทายที่เมื่อใดต้นว่านแตกกอ ออกดอกงดงาม เมื่อนั้นผู้ที่เป็นเจ้าของก็จะพบกับความเจริญรุ่งเรือง แต่เมื่อใดที่ว่านเหี่ยวเฉาไม่งดงาม เมื่อนั้นผู้ที่เป็นเจ้าของมักจะอับเฉาซึ่งโชคลาภเช่นกัน(๒)

“ตำราสรรพคุณยาไทย ว่าด้วยลักษณะกบิลว่าน” โดย นายไพทูรย์ ศรีเพ็ญ กล่าวถึงว่านกลุ่มนี้ ๔ ชนิดด้วยกันคือ ว่านเศรษฐีเรือนนอก, ว่านเศรษฐีเรือนใน, ว่านเศรษฐีด่าง, ว่านเศรษฐีชะม่วม(๓) (ผู้เขียน : เข้าใจว่าคือเศรษฐีชะม่อม อาจเป็นการพิมพ์ผิด)

“ตำราดูว่านและพระเครื่องพระบรมธาตุ” โดย ชัยมงคล อุดมทรัพย์ กล่าวถึง ๒ ชนิดคือ ว่านเศรษฐีเรือนนอก และว่านเศรษฐีเรือนใน(๔)

“ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด” โดย พยอม วิไลรัตน์ กล่าวถึง ๑๐ ชนิดด้วยกัน คือ ๑.ว่านเศรษฐี(หอมดำ, พังพรไฟ, เสือร้องไห้) ๒.ว่านเศรษฐีขอด ๓.ว่านเศรษฐีเรือนนอก ๔.ว่านเศรษฐีเรือนใน ๕.ว่านเศรษฐีด่าง ๖.ว่านเศรษฐีมงคล ๗.ว่านมหาเศรษฐี ๘.ว่านเศรษฐีชะม่อม ๙.ว่านเศรษฐีเรือนเตี้ย ๑๐.ว่านเศรษฐีใบโพธิ์(๕)

“ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน” โดย อุตะมะ สิริจิตโต กล่าวถึงว่านกลุ่มนี้มี ๖ ชนิดด้วยกัน คือ ๑.ว่านเศรษฐีธรรมดา, ๒.ว่านเศรษฐีเรือนนอก, ๓.ว่านเศรษฐีเรือนใน, ๔.ว่านเศรษฐีขอด หรือกวัก(ในตำราได้กล่าวถึงว่าว่านชนิดนี้มีดอก), ๕.ว่านเศรษฐีชะม่อม(มีครีบริมใบสีขาว ตรงกลางใบมีสีเขียวตลอดใบ หรือสีขาวตลอดใบ), ๖.ว่านเศรษฐีด่าง(ใช้ทางอยู่คง) โดยตำราเล่มนี้ได้ระบุคาถาเสกหัวว่านก่อนลงกระถางที่เพิ่มเติมจากเล่มอื่นๆคือ “นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ มหาเศรษโฐ ภวันตุเม” ให้ภาวนา ๙ จบก่อนนำหัวว่านลงกระถางปลูก(๖)

“ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์” โดย อาจารย์ชั้น หาวิธี กล่าวถึงว่านกลุ่มนี้ไว้ ๙ ชนิดด้วยกัน คือ ๑.ว่านเศรษฐีขอด(กอบทรัพย์), ๒.ว่านเศรษฐีธรรมดา(หอมดำ พังพอนไฟ เสือร้องไห้), ๓.ว่านเศรษฐีเรือนนอก, ๔.ว่านเศรษฐีเรือนใน, ๕.ว่านเศรษฐีเรือนเตี้ย, ๖.ว่านเศรษฐีอินเดีย, ๗.ว่านเศรษฐีนางกวัก หรือว่านมหาเศรษฐี (ผู้เขียน : ที่ได้ชื่อนี้อาจเป็นเพราะว่าต้นใหญ่กว่าว่านเศรษฐีทุกตัว), ๘.ว่านเศรษฐีใบโพธิ์(ตำราเล่มนี้ได้ระบุฝอยการใช้ว่าน โดยแกะหัวว่านเป็นรูปพระควัมบดี แต่ไม่ได้ระบุกรรมวิธีการสร้าง), ๙.ว่านเศรษฐีใบพาย หรือนางกวักทอง(๗)

“ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน” โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ กล่าวถึงว่านกลุ่มนี้ ๑๖ ชนิดด้วยกัน คือ ๑.ว่านเศรษฐีขอด(กอบทรัพย์) ๒.ว่านเศรษฐีขอดหรือกวัก ๓.ว่านเศรษฐีชะม่อม ๔.ว่านเศรษฐีด่าง ๕.ว่านเศรษฐีใบพาย หรือว่านนางกวักทอง ๖.ว่านเศรษฐีใบโพธิ์ ๗.ว่านเศรษฐีเรือนเตี้ย ๘.ว่านเศรษฐีนางกวัก หรือว่านมหาเศรษฐี ๙.ว่านเศรษฐีมงคล ๑๐.ว่านเศรษฐีธรรมดา หรือว่านเศรษฐีเรือนกลาง ๑๑.ว่านเศรษฐีเรือนนอก ๑๒.ว่านเศรษฐีเรือนใน ๑๓.ว่านเศรษฐีอินเดีย ๑๔.ว่านเศรษฐีจีน ๑๕.ว่านเศรษฐีญวน ๑๖.เศรษฐีแขก(๘)

“ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” โดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น  กล่าวถึงว่านในกลุ่มนี้มี  ๗ ชนิดด้วยกัน คือ ๑.ว่านเศรษฐีสอด(ว่านชัยมงคล) ๒.ว่านเศรษฐีขอด ๓.ว่านเศรษฐีเรือนนอก ๔. ว่านเศรษฐีเรือนใน ๕.ว่านเศรษฐีเรือนนอกเรือนใน(ว่านเศรษฐีด่าง) ๖.ว่านเศรษฐีธรรมดา ๗.ว่านเศรษฐีมอญ(๙)

“กบิลว่าน ๑๐๘” โดย สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร กล่าวถึงว่านกลุ่มนี้  เพียงชนิดเดียวคือ เศรษฐีมงคล แต่มีอีกชื่อที่น่าจะจัดไว้ในกลุ่มเดียวกันคือ สมเด็จนางพญามหาเศรษฐี(๑๐)

ดังนั้นเมื่อคัดเลือกเฉพาะรายชื่อว่านที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในตำราว่านยุคแรก เท่าที่ผมมีตำราเช็คได้นั้น จึงได้ข้อสรุปว่าว่านกลุ่มที่เรียกว่าเศรษฐีนั้นมีด้วยกัน ๒๘ รายชื่อ รวมที่เป็นต้นเดียวกันมี ๑๙ ชนิด เรียงตามลำดับรายชื่อที่มีการกล่าวซ้ำกันในตำราว่านยุคแรกจากมากไปน้อย ได้ดังนี้

  • ว่านเศรษฐีเรือนนอก
  • ว่านเศรษฐีเรือนใน
  • ว่านเศรษฐีธรรมดา
  • ว่านเศรษฐีขอด(กอบทรัพย์),กวัก
  • ว่านเศรษฐีชะม่อม
  • ว่านเศรษฐีด่าง(ว่านเศรษฐีเรือนนอกเรือนใน)
  • ว่านเศรษฐีใบโพธิ์
  • ว่านเศรษฐีมงคล
  • ว่านเศรษฐีเรือนเตี้ย
  • ว่านเศรษฐีอินเดีย
  • ว่านเศรษฐีนางกวัก, ว่านมหาเศรษฐี
  • ว่านเศรษฐีใบพาย, ว่านนางกวักทอง
  • ว่านเศรษฐี(หอมดำ, พังพรไฟ, เสือร้องไห้) (ต้นชนิดหัวหอม ชุนเช่าอีกแบบหนึ่ง)
  • ว่านเศรษฐีแขก
  • ว่านเศรษฐีจีน
  • ว่านเศรษฐีญวน
  • ว่านเศรษฐีมอญ
  • ว่านเศรษฐีสอด(ว่านชัยมงคล)
  • ว่านสมเด็จนางพญามหาเศรษฐี

โดยลักษณะเด่นของว่านแต่ละชนิด บรรยายโดยอาศัยสำนวนเก่าตามตำราว่านยุคแรก คือ

รูปว่านเศรษฐีเรือนใน  (เส้นขาวกลางใบ)

 รูปว่านเศรษฐีเรือนนอก (เส้นขาวนอกใบ) 

ว่านเศรษฐีเรือนนอก(๑-๙) ว่านเศรษฐีเรือนใน(๑-๙) ว่านเศรษฐีธรรมดา(๒, ๕-๙) และว่านเศรษฐีด่าง(๓, ๕, ๖, ๘, ๙)  ทั้งสี่ตัวนี้มีจุดเด่นร่วมกันคือ เมื่อว่านออกดอกบริเวณช่อดอกจะเปลี่ยนเป็นต้นว่านขนาดเล็กและมีรากงอกต่อมาในภายหลัง

รูปแสดงช่อดอกที่เปลี่ยนเป็นต้นของว่านกลุ่มนี้

จุดต่างกันคือสีของใบ โบราณท่านใช้เกณฑ์ด่าง คือแถบสีขาวของใบเป็นตัวแยกแยะต้นว่าน หากแถบด่างขาวอยู่ด้านนอกก็เรียกว่า ว่านเศรษฐีเรือนนอก แถบด่างขาวอยู่ข้างในก็เรียกว่าว่านเศรษฐีเรือนใน ใบเขียวทั้งใบไม่มีแถบด่างขาวก็เรียกว่าว่านเศรษฐี(ธรรมดา) โดยเข้าใจว่าชื่อจริงๆคือว่านเศรษฐี แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการแยกแยะจึงเติมสร้อยคำว่า “ธรรมดา” ต่อท้ายนั่นเอง

รูปว่านเศรษฐี(ธรรมดา) (หรือเศรษฐีเรือนกลาง, เรือนเขียว)

ส่วนหากมีด่างแถบขาวแต่ใบมีขนาดใหญ่กว่าในกลุ่มอย่างชัดเจนก็เรียกว่า ว่านเศรษฐีด่าง หรือเศรษฐีเรือนใหญ่ แต่หากมีด่างขาวชักเจนมากจนกินไปทั้งข้างนอกและข้างในจะเรียกว่า ว่านเศรษฐีเรือนนอก-เรือนใน

 

 

เศรษฐีด่าง หรือเศรษฐีเรือนใหญ่

ว่านเศรษฐีเรือนนอก-เรือนใน

ตามตำราเล่มต่างๆ ต่างกล่าวตรงกันถึงว่านชุดนี้ว่าเป็นว่านเสี่ยงทาย หากเมื่อใดว่านเจริญงอกงามดี หรือเมื่อว่านออกดอก จะแสดงถึงเจ้าของกำลังจะพบกับความเจริญรุ่งเรือง มีโชคลาภวาสนา

รูปว่านเศรษฐีขอด

ว่านเศรษฐีขอด(๕-๘) ใบหรือรากคล้ายแฝกหอม หรือใบกุยฉ่าย  แต่ใบม้วนพับเป็นวงกลมเข้าหาต้น(๕-๘) ว่านนี้เป็นว่านเสี่ยงทาย ปลูกไว้ในบ้านเป็นเมตตามหานิยม ปลูกไว้ในร้านค้าทำให้ขายของดี เมื่อเวลาว่านออกดอกหรือใบว่านม้วนงอเข้าหาตัวสวยงาม จะบังเกิดโชคลาภแก่ผู้เลี้ยง ท่านว่ายิ่งม้วนมากยิ่งดีนักแล ว่านนี้นับว่าแปลกดีนักผู้เขียนเห็นมามาก เมื่อใดก็ตามที่ผู้ปลูกเลี้ยงกำลังจะได้รับเงินก้อน หรือมีโชคลาภ ใบของว่านมักม้วนงอสวยงามอย่างเห็นได้ชัดเสมอๆ โดยว่านนี้ดอกจะออกยากสักหน่อยลักษณะดอกเหมือนดอกว่านทุ่งเศรษฐี

 

เศรษฐีกอบทรัพย์ ต้นของคุณนพคุณ

ต้นนี้มีหลายต้นด้วยกันได้แก่ ต้นออกดอกง่าย ต้นเดิมที่ใบขอดยาก(ต้นที่ใช้เสี่ยงทายจริงๆ) และต้นใหม่ที่ขอดง่าย ตลอดจนต้นที่ใบโค้งกวัก(ไม่ขอด)ที่เรียกว่า เศรษฐีกอบทรัพย์

รูปว่านเศรษฐีชะม่อม

ว่านเศรษฐีชะม่อม(๓, ๕, ๖, ๘)  ว่านนี้ชื่อเศรษฐีก็จริงแต่เป็นว่านที่ใช้ในทางคงกระพันชาตรี ลักษณะ ใบเหมือนใบพาย ครีบใบและตัวใบมีสีเขียวทั้งใบ(๓,๕,๘) ตำราของอุตะมะ สิริจิตโตกล่าวว่าใบเหมือนใบเตยหอมแต่ขนาดเล็กกว่า ใบเรียวมีครีบริมใบสีขาวตรงกลางมีสีเขียวบางต้นจะมีสีเขียวตลอดใบหรือสีขาวตลอดใบ(๖)

เศรษฐีชะม่อม(ด่าง) ตามตำราของอุตะมะ สิริจิตโต, เศรษฐีด่าง หรือเศรษฐีเรือนใหญ่

จุดเด่นของต้นนี้คือใบจะคล้ายใบพายคือใบกว้างไม่เรียวยาวขนานกันแบบใบข้าวหรือเศรษฐีเรือนนอก เรือนใน หรือเศรษฐีเรือนกลาง และต้นนี้หากอ้างอิงข้อความข้างต้นจะมีสองต้น(ตามตำราของอุตะมะ สิริจิตโต)ด้วยกัน คือต้นสีเขียวล้วน(ต้นเดิม) กับต้นที่มีริมแถบขาว ซึ่งต่อมาแยกให้ชัดเจนในนาม เศรษฐีเรือนใหญ่ หรือเศรษฐีด่าง ซึ่งต้นลักษณะนี้ทำให้ดูผิวเผินคล้ายกับเศรษฐีเรือนนอกต้นเดิมต่างกันที่ เศรษฐีเรือนนอกต้นเดิมใบแคบขนานและเรียวยาว

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่ากลุ่ม เศรษฐีชะม่อมมี ๓ ต้นด้วยกัน คือ

  • ต้นเขียวล้วน: เศรษฐีชะม่อม
  • ต้นด่างที่ขอบ: เศรษฐีด่าง หรือเศรษฐีเรือนใหญ่
  • ต้นด่างมากโดยด่างที่ข้างในชัดเจนจนกินไปถึงขอบนอก: เศรษฐีเรือนนอก-เรือนใน

เศรษฐีชะม่อม ตามตำรา อ.แสวง

ยังไม่จบเท่านี้ครับตำรา อ.แสวงระบุว่าเศรษฐีชะม่อม คล้ายธรณีเย็นแต่ใบแข็งหนาและแคบกว่าใบจะกวักม้วนคล้ายเศรษฐีขอด เข้าใจว่าเป็นไม้ป่าเมืองไทยกลุ่มธรณีเย็นกลุ่มหนึ่งซึ่งปัจจุบันหาชมยาก

โปรดติดตามตอนที่ ๒ ….

อรรถวัติ กบิลว่าน

ทีมงาน: ssbedu.com

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook
คะแนนเฉลี่ยที่ผู้อ่านให้
[จำนวนผู้โหวต: 3 คะแนนเฉลี่ย: 5]
Bookmark the permalink.

Comments are closed.