ว่านแท้-ว่านปลอม และว่านนอกกบิลว่าน (ตอนที่ ๑)

ในการเล่นว่านนั้นสิ่งที่มักจะได้ยินอยู่เสมอๆเมื่อทำการเล่นว่านได้สักระยะหนึ่งแล้ว นั่นคือคำกล่าวถึงว่า “ว่านตัวนี้เป็นว่านแท้ อันนี้ไม่ใช่นะ ว่านตัวนี้ไม่เคยได้ยิน ว่านมั่วหรือเปล่า? หรือว่านกูตั้งเองหรือเปล่า?”

ว่านนั้นต่างจากเรื่องนก หรือแม้แต่พืชอื่นๆ เช่น ไม้นอก หากเป็นเรื่องนกนั้นเมื่อมีการสำรวจแล้ว พบสายพันธ์นกที่แตกต่างกันไป หากไม่มีใครเรียกมาก่อนผู้ค้นพบก็จะสามารถตั้งชื่อเรียกเองได้ อย่างเช่น “นกโกโรโกโส” ที่ตั้งเช่นนี้เพราะนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล  พร้อมคณะที่ช่วยเก็บตัวอย่างสัตว์และสตั๊ฟสัตว์ ได้พากันไปที่สนามหลวง พอเดินมาถึงบริเวณที่ขายนก  ได้มองเห็นนกชนิดหนึ่งยืนอย่างหงอยเหงาทรุดโทรมอยู่ในกรงเลี้ยง

นกโกโรโกโส (“นกขายหมู”ในคำเรียกท้องถิ่น) ปัจจุบันพบน้อยมาก

คุณหมออุทานออกมาอย่างดีใจว่า เอ๊ะ …เจ้านกตัวนี้เป็นนกที่หายากมากนี่นา ใกล้จะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่เมื่อคุณหมอพินิจพิจารณาแล้วเห็นว่า นกตัวนั้นอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก ขนซีดและขาดวิ่นวางซ้อนทับกันอย่างไม่เป็นระเบียบ ลำตัวผอมแห้ง สภาพทรุดโทรมเป็นยิ่งนัก จึงพูดขึ้นว่า เราเห็นทีจะต้องซื้อเจ้า “นกโกโรโกโส” ตัวนี้เอาไว้เป็นตัวอย่างสักตัวหนึ่ง นับวันจะหายากขึ้นทุกที

แต่ว่านนั้นไม่สามารถตั้งชื่อเองได้อย่างใจชอบ เพราะเป็นเรื่องของหลักวิชา!!! เป็นเรื่องของสรรพคุณทางยา การจะได้ชื่อของว่านมานั้นสรรพคุณต้องเด่นชัดเสียก่อน โดยเฉพาะสรรพคุณทางไสยศาสตร์ ซึ่งจะสุ่มสี่สุ่มห้าตั้งเองตามใจชอบไม่ได้ครับ!!!

ดังนั้นหลักการโดยกว้างๆที่จะแยกว่านแท้ว่านปลอม ว่านตั้งเอง หรือว่านนอกกบิลว่าน จะมีหลักการกว้างๆคือ

๑. ดูจากชื่อ

หากชื่อนั้นดูเป็นสมัยปัจจุบัน หรือชื่อตระกูลร่ำๆรวยๆ อย่างเช่น รวยไม่เลิก รวยล้นฟ้าอะไรประมาณนั้นให้เดาๆไว้ก่อนเลยว่า เป็นชื่อว่านสมัยใหม่ ซึ่งบางทีอาจเป็นว่านแต่เดิม แต่ชื่อธรรมดาๆขายไม่ได้เลยตั้งชื่อว่านเสียเพราะพริ้งแถมเปลี่ยนสรรพคุณให้เสร็จสรรพ

ว่านหอมเขียว drimiopsis kirkii ว่านสาย อ.หล่อ ขันแก้ว ในตำรากล่าวถึงใช้ในทางยา เป็นยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศ ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “รวยไม่เลิก

๒. ดูจากความชัดเจนของข้อมูล

หากบางยุคคนนิยมว่านกลุ่มใดกันมากแล้ว ก็มักจะมีคนเอาว่านดังกล่าวมาเสนอในชื่อต่างๆนานา อย่างเช่น ว่านดอกทอง เป็นต้น ถ้ามีชื่อดอกทอง…อะไรแล้ว ต้องบอกที่มาที่ไปได้ว่า ชื่อนี้มาแต่ใด ใครเล่น ใครเรียก ลักษณะเด่นคืออะไร และไม้ตายคือ “คาถากำกับ” หากสามารถบอกเคล็ดทางไสยศาสตร์ที่สมเหตุสมผลหรือคาถากำกับที่สมเหตุผลได้ถือว่าว่านนั้นอยู่ในดุลพินิจที่พอฟังได้ และสมควรทำการวิจัยสืบค้นข้อเท็จจริงกันต่อไป

ชุนเช่า ชนิดที่เป็นบัวดินตัวโบราณดอกสีเปลือกไข่

เรื่องนี้รวมไปถึงการมีข้อมูลการใช้จริงๆ จนถือเป็นคติชนคือยอมรับกันในวงกว้าง อย่างเช่น ว่านชุนเช่า ที่ใช้ในพิธีแต่งงานของคนจีนที่มี ๒ ชนิด คือ ๑.ชนิดทั่วไปคือว่านตระกูลเดียวกับเศรษฐีขอดทรัพย์ ที่เรียกว่าซุ้มกระต่าย อีกตัวเป็นบัวดินพันธ์เก่าดอกสีไข่ไก่ (ที่มีการใช้งานจริงๆในพิธีแต่งงานของชาวจีน แต่อาจไม่แพร่หลายเท่าตัวแรก)

๓.เช็คจากตำราเก่า

แล้วมีความเป็นไปได้ว่าจะใช่ว่านที่บ่งบอกไว้ตามตำราจริงๆ แต่การยึดตามตำรานั้นต้องเข้าใจว่า ภาษาบรรยายแบบโบราณนั้นบางครั้งก็จับสาระเป็นหลักการเสียไม่ได้ทีเดียว เพราะภาษาที่อธิบายนั้นเป็นภาษาที่คนเขียนเป็นคนเห็น และบรรยายออกมาในยุคสมัยหนึ่งๆ ซึ่งในบางครั้งอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่คนอื่นเห็น หรือคนในปัจจุบันเห็นก็ได้ อันจะเห็นได้ว่าในตำราโบราณนั้นท่านจะไม่มีรูปภาพ ข้อดีของตำราที่ไม่มีรูปภาพคือ ทำให้เรามีเสรีย์ในการมโนภาพถึงว่านต่างๆ สามารถเสาะแสวงหาต้นไม้ที่มีคุณลักษณะตรงตามนั้นมาเติมเต็มตำรา แต่ต้องอยู่ในพื้นฐานของหลักเด่นของว่านนั้นๆ เช่น ว่านสาวหลง คือต้องหอมทุกส่วน เหมือนอย่างพริกต้องเผ็ด ถ้าไม่เผ็ดอาจจะเป็นพริกก็ได้แต่เราไม่เอามาใช้ประโยชน์ ว่านก็เช่นกัน ถ้าต้นเหมือนสาวหลงทุกประการแต่ไม่หอมก็ไม่นับเข้าตระกูลว่านสาวหลง

ว่านเสน่ห์จันทน์หอม ต้นแบบนี้มีหลายชนิด มีชนิดที่ไม่หอมด้วย หรือหอมไม่มาก ต้นที่จัดเป็นว่านจริงๆตามตำราคือต้นที่หอมมากขนาดขยี้ใบในฝ่ามือจะหอมทะลุถึงหลังมือ

ผู้ศึกษาว่านโดยท่องจำตำราเก่า โดยมิพึ่งตำราภาพมาก่อนจะได้เปรียบในเรื่องของการมองภาพลักษณ์ของว่านโดยองค์รวมที่ชัดแจ้งกว่าคนที่ยึดตำราว่านที่มีภาพประกอบ เพราะเมื่อยังเข้าไม่ถึงแก่นของว่านแต่ละตัวแล้วเวลาเข้าไปหาว่านในป่าแต่ละท้องที่จะสับสนมาก เพราะความแตกต่างทางสภาพดินฟ้าอากาศ ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของว่าน ด้วยเหตุนี้เองโบราณท่านจึงอนุโลมว่าให้มี “ตัวผู้ ตัวเมีย” นั่นหมายถึงกรณีมี ๒ ตัวที่คล้ายๆกัน แต่ถ้าเกินแล้วก็จะต่อสร้อย เช่น สายใต้-สายอีสาน ใหญ่-เล็ก แดง-เขียว ซึ่งคล้ายๆหลักการของ “จุลพิกัด” ในเรื่อง “คณาเภสัช” ทางการแพทย์แผนไทย

โปรดติดตามตอนที่ ๒ คลิ๊ก …

อรรถวัติ กบิลว่าน

ทีมงาน: ssbedu.com

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook
คะแนนเฉลี่ยที่ผู้อ่านให้
[จำนวนผู้โหวต: 2 คะแนนเฉลี่ย: 5]
Bookmark the permalink.

Comments are closed.