ว่านที่เรียกว่าไพล (ตอนที่ ๒)

บรรยายลักษณะ “ว่านไพลขาวไพลดำ” ตามตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด โดย พยอม วิไลรัตน์

๔. ว่านไพลขาวไพลดำ(๒) ต้นนี้ตรงกับต้นในตำรา ของ พยอม วิไลรัตน์ ในสำนวนนั้นระบุว่า เป็นได้ทั้งสองต้นขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมในการปลูก คือเป็นได้ทั้งไพลขาว และไพลดำ ภายหลังพบว่าต้นนี้มีอยู่จริง เป็นชนิดที่ถ้าย้ายสถานที่ปลูกแล้ว ต้นจะกลายไปจนชนิดว่าอาจเข้าใจผิดว่าเป็นคนละต้นกันเลยทีเดียว จากที่ปลูกในที่แห้งกลางแดดสีต้นสีเนื้อในหัวจะเป็นสีขาว เมื่อย้ายไปปลูกในที่ร่ม ที่มีความชุ่มชื้นสูง ทั้งต้นและหัวจะเป็นสีคล้ำดำจนเห็นได้ชัด และเพื่อป้องกันการสับสนจะขอเรียกแยกต้นไปเลยว่า “ว่านไพลขาวไพลดำ”

ว่านไพลขาวไพลดำ : Zingiber kerrii Craib. หรือ ขิงดา โดย ชื่อวิทยาศาสตร์นี้ มีระบุไว้ในส่วนของว่านไพรขาว ตามตำราของ นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ

ต้นนี้ทางพฤกษศาสตร์เรียกว่า Zingiber kerrii Craib. ชื่อท้องถิ่นว่า ขิงดา หรือขิงแมงดาเนื่องจากมีกลิ่นฉุนมาก ต่างจากไพลขาว(เฉยๆ)ตรงดอกเป็นช่อลอยขึ้นจากพื้นดินครับ  ต้นนี้ถ้าขึ้นกลางแจ้ง จะสีมีนวลพลายปรอททั้งต้นและใบ แต่ถ้าขึ้นที่ร่มครึ้ม ทั้งต้นและใบจะมีสีเขียวเข้มไม่มีนวล ถ้าใครจะหาว่านไพลขาว ที่มีพลายปรอททั้งต้นและใบ ก็คือต้นนี้นั้นเอง จุดเด่นอีกอย่างของไพลขาวไพลดำนี้คือ ขอบกลีบเลี้ยงดอกมีสีแดงตั้งแต่ดอกยังอ่อนๆครับ

ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์ : อาจารย์ชั้น หาวิธี

๕. ว่านไพลปลุกเสก(๒-๖) ลักษณะต้น ก้าน ใบ หัวและเนื้อในมีสีเหลืองเหมือนกับไพลธรรมดา แต่พื้นใบมีป้ายขาวเป็นทางคล้ายว่านข่าจืด และหัวมีขนาดเล็กกว่าหัวไพล(๗)เชื่อว่าว่านชนิดนี้คือไพลธรรมดาที่ฤาษีปลุกเสกแล้วเกิดอภินิหารบังเกิดเป็นทางขาวขึ้นที่ใบ นับเป็นของกายสิทธิ์แก้ได้สารพัดโรค ที่เรียกว่ายาวิเศษ ผู้ใดนำมาปลูกไว้จะบังเกิดลาภผล โภคทรัพย์ จะทำการใดๆย่อมสำเร็จโดยทุกประการ ใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆตามอธิษฐาน หากจะใช้ขับภูตผีปีศาจหรือแก้คุณไสยต่างๆให้ใช้หัวฝนกันน้ำสุราทั้งกินและทา ถ้าจะให้แคล้วคลาดให้นำหัวพกติดตัวและเสกด้วย “อิติปิโส จนถึงภควาติ” ๓ จบเสียก่อน(๕)

รูปไพลปลุกเสก จากหนังสือ ตะลุยดงว่าน เล่ม 1 โดย เชษฐา พยากรณ์(๑๒)

ถ้าจะให้คงกระพันให้เสกหัวกินด้วย “นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะพะกะสะ” ๓ จบ(๔) หรือใช้หัวตำกินกับเหล้าเสกด้วย “กอออนออะ นะอะกะอัง” ๑๐๘ ครั้ง ถ้าจะแก้คุณไสยให้เสกด้วย กรณียเมตตสูตร คือ “เมตตัญจะสัพพโรกัสมิง มานะ สัมภาวะเย อะปริมานัง อัทธังอะโท จริยันจะ อะสัมภาทัง อะเวรัง อัสสะปัตตัง ติจถันจะรัง นิสินโนวา สะยาโนวา ยาวะตัสสะฯ” ๙ ครั้ง เอาหัวตำให้ละเอียด ละลายกับน้ำฝนทาตามตัว และคั้นน้ำให้กิน(๓) ว่านนี้บางตำรากล่าวว่าสรรพคุณนั้นดีกว่าไพลดำเสียอีก(๒)  อนึ่งก่อนจะทำการรักษาโรคใดๆให้ทำการจุดูธูปเทียนบูชาระลึกถึงพระฤาษีที่ประสิทธิ์ว่านยานี้ก่อน(๕)

โดยข้างต้นเป็นคาถาจากตำราเดิม คัดลอกตัวต่อตัวไม่ได้แก้ไข หากจะใช้คาถาเต็มตามตำราที่ชำระแล้วตัวคาถาจะมีดังนี้

“เมตตัญจะ สัพพะโลกัส๎มิง       มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง,
อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ           อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง.
ติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา             สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธ,
เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ            พ๎รัห๎มะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุ.
ทิฎฐิญจะ อะนุปะคัมมะ             สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน,
กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง                 นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ.ฯ”

ชื่อที่เรียกอื่น ว่านฤาษีสร้าง ว่านไพลเสก ว่านไพลด่าง(๖)

ไพลปลุกเสก :  พืชตระกูลไพลนี้ลักษณะเด่นคือ ดอกแทงออกจากหัวใต้ดิน ใบมักทำมุม ๙๐ องศากับลำต้น(๑๑)

ว่านชนิดนี้แต่โบราณนับถือและตีค่าไว้มาก แต่ไม่ค่อยจะดัง หรือเป็นที่กล่าวขานเท่าว่านไพรดำสักเท่าไรนัก อาจจะเป็นเพราะชื่อมิได้เข้าคู่ผูกไว้กับเหล็กไหลก็เป็นได้ เป็นหนึ่งในว่านที่อยากจะแนะนำให้หามาไว้ติดบ้านครับ

ว่านข่าจืด Alpinia vittata Bull. : มองผิวเผินคล้ายว่านไพลปลุกเสก จุดตัดอยู่ที่หัวว่านข่าจืดหัวจะเป็นแบบหัวข่า ดอกออกที่ยอด และใบทำมุมกับต้นราวๆ ๓๐-๔๕ องศา

อนึ่งผู้อ่านพึงทราบว่าวิชาโบราณนั้นหากจะเรียนกันจริงๆ ต้องมีการครอบครู ต้องมีการยกครูเรียนกันเป็นเรื่องเป็นราว เพราะคาถาหรือเคล็ดบางอย่างจะมีการบังกันไว้ ให้เฉพาะศิษย์ที่ยกครูเรียนอย่างถูกต้องเท่านั้น เพื่อรักษาความดีงามและความบริสุทธิ์ของวิชาเอาไว้มิให้ผู้ทุศีลนำไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจนทำลายคุณค่าของวิชา ดังนั้นเราจึงจะพบว่าในตำราโบราณ สมุดข่อย ปั๊บสา มักจะมีการบังวิชา มีการลงวิชาไม่ครบ (ผู้รู้บางท่านชี้แจงว่า ตำเราเขาเอาไว้กันลืม ดังนั้นอะไรที่เขารู้ๆกันอยู่แล้ว หรือไม่ลืมเขาก็ไม่ลงกัน) แม้แต่ในตำราว่านเอง ผู้เขียนก็พบว่าคาถาบางบทก็ขาดหายไป หรือบางทีก็พบว่ามีอักขระคลาดเคลื่อนไป ทั้งนี้คงเป็นเพราะ

๑)ความคลาดเคลื่อนผิดพลาดจากการคัดลอกต่อๆกันมา ด้วยเพราะเทคโนโลยีทางการพิมพ์ที่ไม่ทันสมัยเท่ายุคปัจจุบัน และตำราโบราณมักจารเขียนด้วยตัวธรรม/ตัวขอมจึงเกิดความผิดพลาดในการคัดลอกง่ายๆ

๒)อาจเกิดจากการบังวิชาเอาไว้

๓)เป็นวิชาสายนั้นๆเองซึ่งพบไม่น้อยเหมือนกันโดยเฉพาะสายที่เน้นแรงครูเป็นหลัก

๔)ตั้งใจให้ผิดเพื่อเป็นเคล็ดวิชา เช่น บทสัพพาสี ตอนท้ายของบท “…ปะริตตันตัมภะณามะ เห” เป็น ภะณามะ หายฯ เป็นต้น

ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่าคาถาบางบทนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และเห็นว่าใช้ในทางโทษมิใคร่ได้ จึงได้ตั้งข้อสังเกตและแนะนำเพิ่มเติมจากตำราเดิมไว้ให้เฉพาะคาถาบางอย่างที่เห็นว่าควรเปิดเผยได้ครับ

คำบรรยายลักษณะของ “พระยาไพล” จาก ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด : พยอม วิไลรัตน์

๖. พระยาไพล(๒) พืชนี้ไม่ใช่ว่านแต่จัดเป็นต้นยาวิเศษ ซึ่งหมายถึงพืชที่มีอาถรรพ์หรือสรรพคุณทางยาสูงมาก จึงมักมีการบังเอาไว้และรู้กันเฉพาะกลุ่มเท่านั้น บางครั้งจะเป็นพืชที่มิวแตนคือกลายพันธุ์ไปจนมีลักษณะพิเศษต่างจากสายพันธุ์ปกติ พืชนั้นจึงมักเป็นหมัน ทำให้เป็นพืชที่มีจำนวนน้อยหรือหายาก บางตัวเป็นพืชที่ใช้ในทางไสยศาสตร์ บางตัวใช้ในการเล่นแร่แปรธาตุ ปัจจุบันพืชพวกนี้จึงแทบเรียกได้ว่าสูญพันธุ์ไปจากสารบบองค์ความรู้ของสยามประเทศไปเสียแล้ว นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ในตำราว่านเก่าทั้ง ๑๒ เล่มนั้นมีเพียงเล่มเดียวที่กล่าวถึงว่านยาวิเศษคือเล่ม ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด ของ พยอม วิไลรัตน์ เท่านั้น

ตามข้อมูลนั้นในสมัยก่อน การสร้างพระพิมพ์นั้นจะต้องแสวงหาเกสรดอกไม้นานาชนิด มาบดผสมกับว่านและแร่ธาตุสำคัญ แล้วยังต้องนำพฤกษาชาติอันเป็นโอสถที่สำคัญมาผสมเป็นพระพิมพ์ด้วย(๑๐)  ซึ่งพฤกษาวิเศษ หรือต้นยาวิเศษนี้มีด้วยกันประมาณ ๔๗ ชนิด(๒) ซึ่งจะได้ทยอยๆกล่าวในภายหลังครับ

ลักษณะของพระยาไพล คือ “ต้นดังเคลือสะบ้าเหล็ก ลูกดังลูกกะลิงปิง ใบดังใบท้าวยายม่อม ยานี้ใช้กินเป็นอายุวัฒนะ” อ่านแล้วงงดีไหมครับ การแกะตำราต้นยาวิเศษนั้นต้องถอดรหัสหลายชั้นมาก รหัสแรกคือภาษา ซึ่งเป็นภาษาโบราณ เด็กยุคใหม่ที่ไม่คุ้นเคยไม่ได้คลุกคลีกับคนโบราณคือผู้เฒ่าผู้แก่ตามชนบทก็เมินข้อนี้ไปได้เลย รหัสต่อมาคือการเทียบเคียง อย่าง “ลูกดังกะลิงปิง” คนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้จักลูกตะลิงปิงมาถึงตรงนี้ก็จบข่าวครับ ไปต่อไม่ได้แน่นอน ไม่งั้นก็ต้องไปเสียเวลาค้นต่ออีก ซึ่งจะค้นถูกตัวหรือไม่ก็ว่ากันอีกที รหัสต่อมาคือชนิดไหนกันแน่ที่พูดถึง อย่าง “ท้าวยายม่อม” ก็มีสองอย่าง อย่างหนึ่งคือไม้หัวพวกหัวบุก อีกอย่างหนึ่งคือไม้ต้น นอกจากนั้นก็มีรหัสบัง มีการซ่อนกลชื่อพ้องชื่อคล้าย ชื่อกล หรืออื่นๆ อย่าง “น้ำประสานทอง” กับ “ทองน้ำประสาน” ในเครื่องยาจินดามณี ผู้รู้บางท่านก็กล่าวว่าเป็นคนละตัวกัน เป็นต้น

ผู้เขียนลองค้นคว้าถอดรหัสดู จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า ต้นที่ตรงกับบรรยายข้างต้นมากที่สุดก็คือ ต้นที่เรียกในปัจจุบันว่า “ต้นกำลังช้างสาร” ซึ่งมันพ้องกับคำว่า “พระยาไพร” ซึ่งช้างคือพระยาแห่งพงศ์ไพรนั่นเอง…

ต้นกำลังช้างสาร(๑๖, ๑๗) Beaumontia murtonii Craib ชื่ออื่น : เครือง้วนเห็น (อุตรดิตถ์), เถาจักรลาช (ประจวบคีรีขันธ์), ศาลาน่อง (อุดรธานี), ไส้ตันใหญ่ (ปราจีนบุรี)

พืชชนิดนี้คือพืชกลุ่มหิรัญญิการ์ ซึ่งมีลักษณะผลดังลูกแตงกวาหรือคล้ายลูกตะลิงปิง เป็นพืชเถาไม้เลื้อย คือพืชจำพวกเครือ ใบมีลายเส้นใบคล้ายๆกับ ใบท้าวยายม่อมคือใบแบบพืชใบเลี้ยงคู่ แต่เท่าที่พบเห็นไม่ได้เรียวยาวแคบขนาดเท้ายายม่อม(อาจจะมีชนิดที่ใบแคบก็ได้ ถ้ามีจริงก็ตรงตำราเป๊ะ)

ที่สำคัญ สรรพคุณ : เมล็ด ใช้เมล็ด นำมาปรุงเป็นยาบำรุงหัวใจ และกำลัง แต่มีความเป็นพิษด้วย หากใช้เกินขนาดอาจเสียชีวิตได้(๑๗) เป็นการตั้งข้อสังเกตไว้นะครับ ซึ่งผู้รู้ท่านใดทราบต้นที่ตรงกว่านี้ผมก็น้อมรับในเหตุผลครับ

โปรดติดตามตอนที่ ๓…

อรรถวัติ กบิลว่าน

ทีมงาน: ssbedu.com สร้างสรรค์โลกแห่งการศึกษาในยุคอนาคตเพื่อคนในอนาคต…

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook
คะแนนเฉลี่ยที่ผู้อ่านให้
[จำนวนผู้โหวต: 3 คะแนนเฉลี่ย: 3.7]
Bookmark the permalink.

Comments are closed.