เช้าวันนี้ฟ้าคลึ้มด้วยเงาเมฆ อากาศเย็นสบายๆ การได้ตื่นมารับแสงแดดอ่อนๆยามเช้าเช่นนี้ ทำให้ร่างกายและจิตใจแช่มชื่น
ลุงผู้เฒ่านั่งถอนหญ้าที่สวนกล้วยเพลินๆ ทักทายบรรดาลูกๆว่านทั้งหลายที่ปลูกแทรกร่มเงากล้วย วันนี้หลานชายมาช่วยลุงแต่เช้า นั่งถอนหญ้าข้างๆอย่างเงียบๆ ลุงชราสังเกตเห็นหลานดูนิ่งสงบ จึงถามว่า คิดอะไรอยู่ในใจหรือ
หลาน : ผมพยายามสวดมนต์บทพระมหาจักรพรรดิในใจอยู่น่ะครับ
ลุง : ท่องได้แล้วหรือ?
หลาน : ครับ ก่อนหน้านี้ผมพยายามท่องมาหลายวันแล้ว เมื่อคืนก็เลยพยามยามท่องจนจำได้แล้วครับ
ลุง : แล้วตอนคุยกับลุงอยู่นี่ ยังสวดอยู่ไหม ?
หลานชายขมวดคิ้วเล็กน้อย ตอบเสียงอ่อยๆ
หลาน : ไม่ได้สวดครับ
ลุง : ดีแล้ว… เพราะถ้าตอบว่าสวดอยู่ ก็คงจะแปลกทีเดียว เวลาพูดเวลาคุยการสวดย่อมหายไปเป็นธรรมดา แต่คนที่ฉลาดเขาจับอย่างอื่นแทน
หลาน : อะไรหรือครับ ?
ลุง : เขาจับที่ตัวอารมณ์เลย สังเกตไหม เวลาเรานั่งสมาธิ เวลานั่งไปนานๆระดับหนึ่งจิตมันจะเปลี่ยนไปสู่ภาวะที่สงบขึ้น มีความสุขทางใจขึ้น ให้จดจำอารมณ์นั้นไว้ แล้วทรงอารมณ์นั้นให้ทรงตัว เพียรพยายามทรงแบบนั้นให้ได้ทั้งวัน แต่บางคนที่ยังไม่ “ชิน”(ฌาน) ไม่ “ชำนาญ”(ทำนานจนรู้ทริคการลดเวลาเพื่อถึงเป้าหมายอย่างเร็ว) อาจต้องตั้งท่านิดหน่อย บางทีต้องจับลมหายใจสักครู่ บางทีต้องจับภาพพระฯ บางคนก็จับภาพวิมานที่เราครอบตัวเองเอาไว้ หรือถ้าเรียนมาทางสายอิทธิฤทธิ์ เขาก็จะจับคาบลมคาบคาถา……มันเป็นเรื่องของสมมุติกับเหนือสมมุติน่ะ มีสมมุติก่อนจึงมีเหนือสมมุติตามมา เหมือนการที่เราจะอิ่มได้ต้องกินข้าวก่อน เทียบเคียงได้ประมาณนั้น
อารมณ์ทางจิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จิตเราปกติมักจะซ่านส่ายไปมา วิ่งไปตามประสาทสัมผัสต่างๆ เสมอ การทำสมาธิในขั้นแรกๆ ท่านจึงให้ปิดสัมผัสต่างๆให้มากที่สุด คือนั่งในที่สงบ ห่างจากผู้คนและเสียงต่างๆ ปิดเปลือกตา แล้วรวบรวมความคิดไว้ที่เรื่องเดียว คือสมมุติองค์คำภาวนาให้มาจับ ให้คิดเรื่องเดียว แทนที่จะคิดไปเรื่อยๆไม่จำกัด
ครูท่านเวลาสอนจึงมักเริ่มต้นด้วยคำภาวนา หรือไม่ก็การกำหนด เช่นการจับภาพก่อน เมื่อเชี่ยวชาญในการภาวนาหรือกำหนดแล้ว จึงเพิกเสีย ถ้าเรียงตามลำดับแล้วอาจเรียงลำดับการจับและการเพิก ได้คือ ๑.คำภาวนา ๒.กำหนด ๓. อารมณ์ เรื่องนี้ละเอียดอ่อน เอาไว้จะอธิบายวันหลังนะ….
หลาน : ครับลุง แล้วเวลาจับตัวอารมณ์นี่ทำอย่างไรครับ
ลุง : หึหึหึ….เอางี้ไหนลองกำหนดจิตดูวิมานที่ครอบตัวเราไว้เมื่อเย็นสิ
หลานหนุ่มหลับตาก้มหน้าเล็กน้อย จิตเครียดนิดหนึ่ง เป็นการเครียดเพราะใช้กำลังสมาธิเข้าหักระงับนิวรณ์ ด้วยเพราะยังไม่เชี่ยวชาญในการทรงสมาธิ จึงต้องตั้งท่าตามลำดับสักหน่อย
หลาน : อืม…ยังอยู่ครับ แต่แสงความผ่องใส ความสวยลดลงครับ
ลุง : คราวนี้ลองดูความรู้สึกของจิตใจเราสิ ว่าเป็นอย่างไร วุ่ยวาย ทุกข์ สงบ หรือสุข ….
หลานชายนิ่งสักครู่ รวบรวมกำลังใจเข้าสัมผัส พิจารณา อารมณ์ของตนเองในขณะนั้น
หลาน : เอ…สงบดี แล้วก็สุขครับ
ลุง : การให้เห็นภาพวิมานคือการกำหนด หากจะเห็นได้ จิตต้องเลื่อนให้สูงกว่าภาวะปกติ คือจะเห็นของทิพย์ได้จิตต้องเป็นทิพย์ จิตสามัญจะเห็นไม่ได้ ส่วนการที่เอาจิตไปสัมผัสอารมณ์ของใจในขณะจิตเป็นทิพย์นั้นเรียก “การจับอารมณ์”
คราวนี้ก็จดจำและทรงอารมณ์ที่ดีๆนั้นไว้ไม่ให้เคลื่อน เรียก “การทรงอารมณ์” การทรงอารมณ์นี้จะยากสักหน่อย มันยากที่ความต่อเนื่องและความยาวนาน แต่ไม่เป็นไรหากมันดับก็ทรงใหม่ ทำไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่มันจะติดๆดับๆ
[*การจะทรงอารมณ์ได้ยาวนานนั้นมีทริคคือ
๑. มีสติสัมปชัญญะในการระงับนิวรณ์ ๕ ซึ่งเราสามารถไล่กองนิวรณ์ได้ดังนี้
๑. กามฉันทะ ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง ดุจคนหลับอยู่ (ติดกาม งานไม่ก้าวหน้า เสียเวลาชีวิต แต่กามก็มีคุณอยู่บ้างคือเพลิดเพลินเป็นเครื่องอยู่ จึงเรียก “กามคุณ”)
๒. พยาบาท ความไม่พอใจ จากความไม่ได้สมดังปรารถนาในโลกียะสมบัติทั้งปวง ดุจคนถูกทัณท์ทรมานอยู่ ทำให้ร้อนลุ่มทรงความสงบละเอียดของจิตไม่ได้
๓. ถีนมิทธะ ความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม ทำให้เบื่อหน่ายและไม่ก้าวหน้า
๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความคิดซัดส่าย ตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใด ๆ
๕. วิจิกิจฉา ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ ไม่เด็ดขาดในการตัดสินใจและมุ่งหน้า ทำให้งานไม่สำเร็จหรือช้า
๒. ไล่อุปกิเลส ๑๖ แล้วพึงระงับไว้ ได้แก่
๑. อภิชฌาวิสมโลภะ ความเพ่งเล็งอยากได้ไม่เลือกที่ จ้องละโมบ มุ่งแต่จะเอาให้ได้
๒. พยาบาท ความพยาบาท คิดหมายปองร้ายทำลายผู้อื่นให้เสียหายหรือพินาศ ยึดความเจ็บแค้นของตนเป็นอารมณ์
๓. โกธะ ความโกรธ จิตใจมีอาการพลุ่งพล่านเดือดดาล เมื่อถูกทำให้ไม่พอใจ
๔. อุปนาหะ ความผูกเจ็บใจ เก็บความโกรธไว้ แต่ไม่คิดผูกใจที่จะทำลายเหมือนพยาบาท เป็นแต่ว่าจำการกระทำไว้ ไม่ยอมลืม ไม่ยอมปล่อย
๕. มักขะ ความลบหลู่บุญคุณ ไม่รู้จักบุญคุณ , ลำเลิกบุญคุณ เช่น ถูกช่วยเหลือให้ได้ดิบได้ดี แต่กลับพูดว่า เขาไม่ได้ช่วยอะไรเลย เป็นต้น หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า “คนอกตัญญู”
๖. ปลาสะ ความตีเสมอ เอาตัวเราเข้าไปเทียบกับคนอื่นด้วยความลำพองใจ ทั้งๆที่ตนต่ำกว่าเขา
๗. อิสสา ความริษยา กระวนกระวายทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า
๘. มัจฉริยะ ความตระหนี่หวงแหน แม้มีเรื่องจำเป็นต้องเสียสละแต่กลับไม่ยอม
๙. มายา ความเจ้าเล่ห์ แสร้งทำเพื่ออำพรางความไม่ดีให้คนอื่นเข้าใจผิด เป็นคนมีเหลี่ยม มีคู
๑๐. สาเถยยะ ความโอ้อวด คุยโม้โอ้อวดเกินความจริง
๑๑. ถัมภะ ความหัวดื้อถือรั้น จิตใจแข็งกระด้าง ไม่ยอมรับการช่วยเหลือหรือต่อต้านปฏิเสธสิ่งที่มีประโยชน์
๑๒. สารัมภะ ความแข่งดี แก่งแย่งชิงดีให้อีกฝ่ายเสียศักดิ์ศรี ยื้อแย่งเอามาโดยปราศจากกติกาความยุติธรรม
๑๓. มานะ ความถือตัว ทะนงตน ตรงกับคำว่า “เย่อหยิ่ง”
๑๔. อติมานะ ความดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามหรือดูถูก
๑๕. มทะ ความมัวเมา ความหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่ใช่สาระ ซึ่งมี 4 ประการ ได้แก่ 1.เมาในชาติกำเนิดหรือฐานะตำแหน่ง 2.เมาในวัย 3.เมาในความแข็งแรงไม่มีโรค และ 4. เมาในทรัพย์
๑๖. ปมาทะ ความประมาทเลินเล่อ จมอยู่ในความประมาท ขาดสติกำกับ แยกดีชั่วไม่ออก
๓. ทริคแบบสั้นๆที่หลวงตาม้าท่านสอน ถ้าทำได้เช่นที่ว่านี้ ข้างต้นก็ระงับได้เช่นกันคือ
“สวดมนต์ แผ่เมตตา โมทนาบุญ อ่อนน้อมถ่อมตน” และย่อเข้าไปอีกคือ “ทำอารมณ์ให้ดีทั้งวัน”]
หลาน : ครับ ดูยากๆนะ ผมจะพยายามฝึกฝนนะครับ
ลุง : ต่อไปลุงจะต่อวิชาให้นะ
หลาน : ครับ

หลวงตาม้า พระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งที่มีแยบคายในการสร้างบารมีในแนวบุญฤทธิ์ ตามอย่างหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
ลุง : ลองนึกถึงพระฯนะ จะเป็นภาพพระพุทธเจ้าก็ได้ หรือจะเป็นภาพหลวงปู่ดู่ก็ได้ แต่ทางสายบุญฤทธิ์นี้ท่านแนะนำให้กำหนดภาพหลวงปู่ดู่ เพราะเราเชื่อกันว่าหลวงปู่ท่านอธิษฐานมาว่า หากใครนึกถึงท่าน หรือแม้แต่เอ่ยนามท่าน กระแสจิตจะสามารถส่งไปหาท่านได้ ว่ากันว่า ๑ วินาทีกระแสจิตจะกลับไปมา ๗ รอบเลยทีเดียว แล้วถ้าเรานึกถึงท่านแล้วขออะไร ถ้าไม่เกินเหตุจนเกินไป และเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ก็จะสมหวังในเรื่องนั้นๆ จะช้าบ้างเร็วบ้างตามเหตุตามปัจจัย
เรื่องแบบนี้เป็นวิสัยพระโพธิสัตว์น่ะ ทางสายอื่นก็มีนะ แม้แต่ในคริสต์ศาสนาเรื่องแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ที่เขาเรียก “อธิษฐานต่อพระเจ้า” ไง …
เมื่อเห็นภาพพระได้ชัดเจนแจ่มใสแล้วก็อธิษฐานว่า ขอบารมีพระฯอันไม่มีประมาณ ขอหลวงปู่ดู่จงครอบวิมานแก้วจักรพรรดิ ให้แก่ข้าพเจ้านี้ด้วยเทอญฯ….
จากนั้นให้ใช้บทอัญเชิญพระเข้าตัว ให้น้อมจิตตามนะ ….“สัพเพพุทธา สัพเพธัมมา สัพเพสังฆา พะลัปปัตตา ปัจเจกานัญ จะยังพลัง อรหันตานัญ จะ เตเชนะรักขัง พันธามิ สัพพะโส
โดยสวดประมาณ ๕ จบ ….ฯลฯ…
จากนั้นปิดท้ายด้วย พุทธัง อธิษฐามิ ธัมมัง อธิษฐามิ สังฆัง อธิษฐามิ แล้วกำหนดจิตอธิษฐานให้วิมานนี้คงอยู่ตลอดชีวิตไม่เคลื่อน ไม่หายไปจากตัวเรา
ลุงชรากำหนดจิตตรวจเช็คผลฯ เมื่อเห็นว่าใช้ได้แล้ว จึงปล่อยให้หลานชายหัดจับและทรงอารมณ์การครอบวิมาน อยู่ครู่หนึ่ง
ลุง : เอาล่ะเป็นอย่างไรบ้าง
หลาน : โอ้..วิมานสวยมากครับ คราวนี้ใส สว่าง และเป็นประกายมาก
ลุง : ดีแล้ว ต่อไปให้พยายามคอยตรวจเช็ค คอยกำหนดดูนะว่าวิมานยังอยู่ดีไหม และพยายามสร้างเหตุแห่งการคงอยู่ของวิมานนี้อันสรุปย่อได้ ๓ ประการคือ ๑.ศีล ๒.สมาธิ ๓.ปัญญา ตัวปัญญานั้นโดยเฉพาะ “พรหมปัญโญ” คือปัญญาของพรหม อันมีพรหมวิหาร(วิมาน) เป็นบาทฐาน อันได้แก่ เมตตา เป็นต้น
ถ้ามีเมตตา-กรุณามากวิมานจะใหญ่ และจะเยอะคือจะเชี่ยวชาญในการครอบวิมานให้คนอื่น ถ้ามีมุทิตามาก วิมานจะสวยจะสบาย ถ้ามีอุเบกขามาก วิมานจะแข็งแรง…
แต่ถ้าเราเผลอไม่ทรงคุณธรรมเหล่านี้ ดันไปทำในสิ่งตรงกันข้ามเข้า วิมานจะค่อยๆเลือนหายไป เพราะของดีย่อมอยู่กับคนดี ดุจน้ำที่ไม่ละลายกับน้ำมัน ดวงจิตเทวดาขึ้นไปเท่านั้นจึงจะมีวิมานอยู่ ดวงจิตเปรต สัตว์นรกก็ย่อมต้องอยู่ในเปลวไปนรก วิมานแก้วจะทรงตัวอยู่ไม่ได้…นี่แหละหลานที่ทำมานี่ เขาเรียกว่า “การครอบวิมานให้ตนเอง” สรุปๆสั้นว่า ๑.นึกถึงพระฯนึกถึงหลวงปู่ดู่ ๒.ใช้บทอัญเชิญพระเข้าตัว หรือเราเรียกว่าบทสัพเพ ๓. อธิษฐานปิดท้ายอีกครั้งว่าให้ทรงตัวตลอดไป ด้วย “พุทธัง อธิษฐามิ ธัมมัง อธิษฐามิ สังฆัง อธิษฐามิ”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
หน๋านอรรถ
๙ พ.ค.๕๗ รีรันและเพิ่มเติม ๑๐ ก.พ.๖๒
อ้างอิง
วิชาพระจักรพรรดิกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ (ตอนที่ ๓ : การครอบวิมานให้แก่ตนเอง)
https://th.wikipedia.org/wiki/นิวรณ์
https://th.wikipedia.org/wiki/อุปกิเลส