เมื่อเล่นว่านได้สักระยะ เราอาจจะมีโอกาสต้องให้คำปรึกษาหรือตอบคำถามแก่นักเล่นว่านรุ่นใหม่ๆ เกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดชื่อของว่านต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักเล่นว่านรุ่นพี่จะต้องใช้ความพินิจพิเคราะห์อย่างมาก
หลักการวินิจฉัยชี้ขาดว่านนั้น ค่อนข้างที่จะต้องรัดกุมกว่าการระบุชื่อต้นไม้ ประเภทไม้ประดับอย่างอื่น เนื่องจากว่านยังผูกพันกับข้อมูลทางยา ข้อมูลการใช้ทางความเชื่อและทางจิตศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะพลาดไม่ได้ เพราะถ้าพลาดอาจหมายถึงความเสียหายทั้งในด้านร่างกายและชีวิต ตลอดจนความเชื่อถือศรัทธาในว่านและหลักวิชาของว่าน
โดยส่วนมากสังคมออนไลน์ในปัจจุบันจะพบกลุ่มผู้สนใจต่างๆมากมายเกิดขึ้น ผู้เขียนเองก็พบกลุ่มคนเล่นว่านอยู่หลายกลุ่มในสังคมเฟสบุ๊ค ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนภาพว่านและข้อมูลกันและกัน ทำให้การเล่นว่านสมัยนี้ดูคึกคักและสนุกสนานมากขึ้นกว่าแต่เก่า ซึ่งแต่ก่อนนั้นมีเพียงบรรยากาศของผู้คนซื้อหาว่านและพบปะกันครั้งราวในตลาดว่าน หรือบรรยากาศในการบุกรังว่านของพรรคพวกเพื่อนฝูงซึ่งก็มีไม่บ่อยครั้งนัก
เพจกลุ่ม “ว่าน สมุนไพร ไม้มงคลไทย โดย ณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม” ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกราว 14,061 คน (ข้อมูลเมื่อ ๑๔ พ.ย.๖๑) ที่ผมเป็นหนึ่งในผู้ดูแล นับว่าเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับว่านที่ใหญ่มากที่สุดในประเทศ ที่นี่เพื่อนๆสมาชิกจะได้แชร์ข้อมูลและรูปภาพเกี่ยวกับว่านให้แก่กันและกัน และแน่นอนสิ่งหนึ่งที่เพื่อนๆมักโพสต์ข้อมูลมาถามแก่สมาชิก นั่นคือการถามชื่อว่านที่ตนเองมี
จุดอ่อนของการเล่นว่านในสังคมออนไลน์
สังคมออนไลน์นั้นมีจุดอ่อน คือการขาดซึ่งอรรถรสของว่านจริง หัวว่านจริง ใบดอกว่านจริงๆไป เหตุนี้เองด้วยการจำกัดข้อมูลเพียงรูปภาพเพียงมุมแคบๆทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดว่านนั้นยากกว่าการได้เห็นต้นจริงๆตามรังว่านหรือตลาดว่านมากมายนัก ผมเลยนำข้อมูลเทคนิคการวินิจฉัยชี้ขาดว่านมาฝากแฟนๆครับ เผื่อจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลว่านได้สนุกขึ้น ตรงประเด็นและไม่ผิดพลาด โดยสรุปหัวข้อที่จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษคือ
- ความชัดเจนของรูปภาพ ในมุมต่างๆ :เพราะภาพในมุมเดียวหรือภาพ ภาพเดียวจะไม่สามารถชี้ขาดได้ในว่านหลายๆชนิด เนื่องจากว่านแต่ละชนิดก็มีจุดตัดเฉพาะตัวๆไป ยิ่งคนที่ไม่รู้จักด้วยแล้วก็คงไม่รู้ว่าจะถ่ายภาพมุมไหนมาถาม ยกตัวอย่างเช่น “ว่านเสน่ห์จันทน์เขียว” ต้นดังภาพที่ครั้งหนึ่งเคยหลอกตาเซียนว่านมาแล้ว ด้วยภาพที่หลอกตาในมุมที่ไม่ได้เน้นจุดเด่นของว่านนี้ ประกอบกับว่านต้นที่ผมนำมาเสนอคาดว่าเป็นสายพันธ์ป่าที่เมื่อครั้งหนึ่ง เคยมีการนำมาตีมึนขายเป็นเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์อันเป็นต้นที่มีราคาสูงกว่าในสมัยนั้น
เทคนิคในการดูว่านนี้จึงต้องดูในมิติที่ละเอียดขึ้นคือดูที่ลำต้น ว่ามีลายประแต้มเขียวหรือไม่ และจุดตัดเลยจริงๆคือการพิสูจน์กลิ่น ต้องเด็ดใบดมดูครับ เสน่ห์จันทน์เขียวจะหอมเปรี้ยว ส่วนเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์จะหอมหวาน และต้องหอมมากปานสลบไสลเลยทีเดียว……(เสน่ห์จันทน์เขียวจะหอมพอประมาณพอสดชื่นโดยขยี้แล้วดมจึงพอได้กลิ่นฟุ้ง)
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่บรรดาเซียนว่านและ อาจารย์ว่านที่รู้จุดตัดนี้จึงต้องถามกลับในรายละเอียดของว่าน ตลอดจนขอดูภาพในมุมอย่างอื่นๆ ทั้งนี้เพราะการวินิจฉัยว่านให้คนอื่นนั้นมีแต่เจ๊งกับเจ๊า ถ้าวินิจฉัยถูกก็ถูกไป…แต่ถ้าวินิจฉัยผิดผลเสียหายเกิด ๒ ทางเลยทีเดียวคือ กับตนเอง กลายเป็นอาจถูกประณามว่าไม่แน่จริงนี่หว่า…ฯลฯ(นักเลงว่านสมัยเก่าเขาถือกันมากเลยเรื่องนี้)…เข้าตำราเนื้อมิได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง ยังเอากระดูกมาแขวนคออีก…
แต่สิ่งที่เสียหายหนักกว่า ก็คือ “ความคลาดเคลื่อนของหลักวิชา” ซึ่งตามแต่เดิมว่านเป็นเรื่องที่ยากและจุกจิกอยู่แล้ว ถ้ามีการผิดพลาดในองค์ความรู้ต่อไปเรื่อยๆ เรื่องของว่านก็จะสับสนอลหม่านมากยิ่งขึ้น จนยากที่จะสังคายนาในอนาคต
เพราะมุมมิติหนึ่งของว่านคือ “ว่านบางต้นแม้มิใช่ว่านมาแต่เดิมแต่ด้วยถือเป็นมติชน(คนจำนวนมากยึดถือ) ไปแล้ว คือมีคนเชื่อกันมาก ก็จำต้องขนานนามว่า “ว่าน” ไปโดยปริยาย ยกตัวอย่าง “ว่านรางทอง(ใบด่าง)” ครับ จริงๆเป็นไม้นอก ที่ทำให้เกิดด่างขึ้นแล้วเอามาขายเป็นว่านจนทั้งประเทศเรียก “ว่าน” ตำรับว่านจึงต้องถูกมัดมือให้รับรองไปโดยปริยาย…เรื่องนี้เป็นเรื่องของว่านในมิติของประชาธิปไตยไงครับ เขาเรียกว่านกันทั้งเมืองเราคนเดียวไม่เรียก จะสื่อสารกับคนอื่นได้ไหม ?….ใช่ไหมครับ
ดังนั้นหากเราวินิจฉัยว่านหรือระบุชื่อว่านผิดออกไป ต่อมาคนทั่วไปต่างพากันใช้ชื่อนี้ด้วยกันจำนวนมาก จนเกิดการยอมรับเป็นมติชนนิยมที่เราจำต้องปล่อยเลยตามเลยเพราะสู้แรงหมู่ชนไม่ไหว เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆเข้าสุดท้ายชื่อว่าน ต้นว่านก็จะค่อยๆผิดเพี้ยนสับสนกันไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ว่านดอกทองสุริยะเทพ จริงๆแล้วนามเดิมเขาคือเพชรแดง เพชรพระอูมาแดง หรืออูมาวดีดอกแดง ตามตำรายุคเก่าครับ (เพชรแดงอีกต้นนามเดิมคือเพชรใหญ่แดง ซึ่งคู่กับเพชรน้อยแดง)

ซ้าย..ดาบหลวงด่างฟอร์มที่ยังเล็กอยู่ กลางขอนดอกด่าง ขวาว่านขอนดอก(ในกระถางเดียวกัน) เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการเช็คว่านนั้นต้องละเอียดอ่อนมาก บางทีก็ต้องมีต้นมาเช็คเทียบกับต้นมาตรฐานที่มีอยู่เลยทีเดียวจึงจะได้ข้อสรุป เหตุนี้เองว่านจึงมีมุมมิติที่คลาสสิกและเล่นแล้วผมคิดว่าสนุกกว่าพืชกลุ่มอื่น… ท่านว่าไหม?….
และว่านอีกตัวที่ชัดเจนมากในเรื่องนี้คือ “กวักแม่ทองใบ” ไงครับ กวักแม่ทองใบเริ่มจากกวักแม่ทองใบไม่กี่ต้น แตกขยายสายพันธ์ จนมีมากมายกว่า ๕๐ ต้นด้วยกัน และก็มีชื่อที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่น่ากลัวมากที่ผมและพรรคพวกกังวลมากคือ “ว่านในกลุ่มโพลงและดอกทอง” เพราะว่านเหล่านี้มีหลักเกณฑ์และวิชาในตัวมันเอง…มีทริคการแยกแยะ การคัดสรรค์ การดู การใช้ ฯลฯ อื่นๆจิปาถะ ซึ่งไม่ได้มีหลักเดียวอย่างแม่ทองใบ คือ “สวย” อันไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครมากครับ

ว่านในกลุ่มกวักแม่ทองใบ ในตำราระบุไว้ถึง ๓๙ ชนิด แต่ยุคหลังมีเพิ่มอีกหลายชนิด คาดว่าจนถึงปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า ๕๐ ชนิดแล้ว ว่านนี้บางท่านปฏิเสธว่าไม่ใช่ว่าน แต่แท้จริงแล้วสำหรับคนเลี้ยง “เป็น” แล้วสามารถทำให้เป็นว่านได้
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแม่ทองใบขึ้นสู่จุดสูงสุดและลงต่ำสุดอย่างรวดเร็ว ผมเองกลัวว่านกลุ่มอื่นๆ ตลอดจนว่านทั้งปวงเป็นเช่นนั้นอีกครั้งจริงๆ….วงการว่านซบเซาไปนานมากเลยนะครับกว่าจะสร้างกลับมาให้คึกคักได้อย่างนี้อีกครั้ง…. ….(ปล.บทความนี้เขียน ราว ส.ค.๕๗ ปัจจุบัน พ.ย.๖๑ พบว่า ว่านกลุ่มดอกทองที่เคยพีคมากเมื่อปี ๕๗ ตอนนี้ตกลงและแผ่วอย่างมาก และแน่นอนข้อมูลว่านกลุ่มนี้พันกันอีรุงตุงนังมาก รอให้ว่างกว่านี้ผมจะมาเฉลยให้ฟังกันครับ…)
โปรดอ่านต่อ ตอนที่ ๒….
จากใจ อรรถวัติ กบิลว่าน