หลักการวินิจฉัยชี้ขาดว่าน (Identification for Wan) ตอนที่ ๒ (ตอนจบ)

ต่อจากตอนที่แล้ว  ตอนก่อนหน้า คลิก

  • ข้อจำกัดทางด้านประสาทสัมผัส : การชี้ขาดชนิดของว่าน(identification)นั้น หากจะให้แม่นยำจริงๆ จำต้องอาศัยสัมผัสต่างๆอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ตา จมูก ลิ้น การสัมผัสทางกาย และ..ใจ !! ครับ
    • ตา เพื่อแยกแยะสีและลักษณะที่เป็นจุดเด่นของว่านแต่ละตัว ดังนั้นรูปถ่ายที่นำมาถามจึงต้องมีความชัดเจนของสีจริง ไม่ใช้ระบบแฟลช จนเกิดสีเพี้ยน และจำต้องถ่ายออกมาในมุมต่างๆที่ชัดเจนโดยเฉพาะกลุ่มขมิ้น จำต้องถ่ายฟอร์มหัวสมบูรณ์ และเนื้อในหัวด้วย ไม่ดูใบอย่างเดียวนะครับ ว่านกลุ่มขมิ้นใครดูใบขมิ้นแล้วแยกได้ทุกตัวก็เกินมนุษย์แล้ว…หึหึ…
    • จมูก เพื่อดมกลิ่นเฉพาะของว่านแต่ละตัว ซึ่งจะแตกต่างกันออกไป อย่างการแยกว่านตระกูลเสน่ห์จันทน์ออกจากไม้ประดับหรือไม้ป่าที่เข้าตระกูลว่านไม่ได้ การคัดแยกว่านตระกูลดอกทองกับไม้ป่า ที่มีลักษณะคล้ายว่านดอกทอง

ว่านคัณฑมาลา ว่านกลุ่มขมิ้น ที่ใช้รักษาโรคได้หลากหลาย เป็นหนึ่งในว่านที่นักเลงว่านควรรู้จักชิมให้จำกลิ่นรสได้เชี่ยวชาญ นอกนั้นได้แก่กลุ่มว่านพญาว่าน/จ่าว่าน กลุ่มว่านมหาเมฆ กลุ่มว่านพะตะบะ กลุ่มว่านปลาไหล เป็นต้น

  • ลิ้น คือการชิมรส เป็นสิ่งสำคัญมากในการแยกว่านที่แยกแยะได้ยากอย่างกลุ่มขมิ้นและกลุ่มไพลทีเดียว น่าเสียดายที่องค์ความรู้ในเชิงนี้มีไม่กี่คนในประเทศที่ชำนาญเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะแม้แต่ในเชิงการแพทย์แผนไทยก็ให้ความสำคัญในการแยกแยะสรรพคุณทางยาจากรสของสมุนไพรแต่ละตัว…
  • กายสัมผัส ความนุ่มมือ ความสากมือ ความลื่นมือ ความอ่อนแข็งกระด้าง ของใบว่านแต่ละประเภท โดยเฉพาะว่านกลุ่มพะตะบะ ครับ
  • จิตสัมผัส (ใจ) พลังงานภายในก็เป็นเรื่องหนึ่งที่นักนิยมว่านบางกลุ่มใช้ในการเช็คว่านแท้ว่านปลอม หรือว่านที่ถึงขั้น กับว่านที่ยังไม่ถึงขั้น ตัวอย่างคือ การแยกว่านกลุ่มโพลงออกจากว่านทั่วไป…การแยกว่านนางกวัก-ปัดตลอดตัวผู้-ดอกทองปัดตลอด ออกจากกัน…ซึ่งประเด็นนี้ก็นานาจิตตัง และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก หากมีโอกาสและแวดล้อมอำนวยจะได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้อ่านกันครับ

เหล่านี้เองที่เป็นข้อมูลที่จะต้องใช้ในการแยกแยะว่าน การถามข้อมูลด้วยภาพจึงจำกัดแต่เพียง สัมผัสทางตาเท่านั้น เหตุนี้เองนักเลงว่านถ้าไม่ชัวร์ต้นไหนแล้วจึงไม่อยากเอาตัวเขาไปเสี่ยงเท่าไรในการช่วยวินิจฉัยว่าน

ดังนั้น หากเซียนว่านท่านใดถามคำถามกลับหรือขอดูภาพเพิ่มเติม ท่านเหล่านั้น ย่อมมีเจตนาอันดีจะช่วยท่านดูด้วยความเต็มใจจริงๆ มิได้แสดง “ความเยอะ” หรือ “แทงกั๊ก” แต่ประการใด… ผู้ถามก็ต้องช่วยกันให้ข้อมูลกลับด้วยนะครับ….(แปลกแต่จริง เท่าที่เห็น คนถามก็ชอบทิ้งคำถามไว้พอถามกลับก็ไม่ได้ให้ข้อมูลต่อ ราวกับเราเป็นเทวดาเห็นแค่รูปว่านไม่กี่รูปก็แยกว่านได้ทุกต้น แบบนี้ไม่เอานะครับ ขนาดต้นจริงวางตรงหน้าบางต้นยังแยกไม่ได้เลย…)

  • ว่านบางชนิดจำเป็นต้องสัมผัสด้วยตนเอง : เพราะเป็นประสบการณ์ที่ถ่ายทอดกันได้อยาก หรือมิอาจบรรยายให้เข้าใจได้ง่ายด้วยภาษา อย่างเช่น รสเหมือนว่านมหาเมฆ… รสขมเอียน…กลิ่นคาว..สัมผัสนุ่มลื่น…อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องว่านจำต้องมีครูดีที่เชี่ยวชาญคอยชี้แนะอยู่ใกล้ๆเรียกว่า “เรียนตามพ่อ ก่อตามครู” จึงจะเรียนได้เร็วและไม่ผิดเพี้ยน จำต้องหมั่นดูว่านจากของจริง สัมผัสด้วยการดูสี สัมผัสด้วยมือ ดมกลิ่น ชิมรสจริงๆ จึงจะเชี่ยวชาญครับ

ดาบหลวงฟอร์มต้นขนาดเล็ก ความจริงยังโตได้มากกว่านี้อีก เพราะต้นนี้ใบยาวดั่งมีดดาบ(ดาบโบราณ)

  • ว่านบางตัวต้องอาศัยเวลาในการเช็ค : เพราะจะต้องเช็คแยกกันถึงดอก อย่างว่านในตระกูลไพลบางกลุ่ม หรือแม้แต่กลุ่มพลับพลึงกลุ่มหัวหอม การหลอกตาด้วยสภาพแวดล้อม อายุของต้นว่านทำให้แยกแยะว่านได้ยาก ว่านบางอย่างก็ต้องตัดกันจนกระทั่งว่านดอกออก อย่างเช่น ว่านดาบหลวง กับพลับพลึงหนู ๒ ต้นนี้เมื่อยังเล็กจะคล้ายกันมาก จะแยกได้ชัดเจนเมื่ออายุมากๆ เลยปีที่ ๓ ไปแล้ว ว่านดาบหลวงจะมีขนาดใหญ่โตกว่าพลับพลึงหนูมาก

พลับพลึงหนู มองดูคล้ายว่านดาบหลวงเมื่อยังเล็กมาก ๒ ต้นนี้อาจใช้เวลาแยกแยะหลายปีถึงจะแน่นอน

  • จำต้องส่งตัวอย่างมาพิสูจน์ : ว่านที่ชี้ขาดได้ยาก อย่างว่านในกลุ่มขมิ้น และไพล จำเป็นต้องส่งตัวอย่างที่สมบูรณ์มาให้ตรวจสอบ และอาจใช้เวลาตรวจสอบนานถึง ๓ ปี เนื่องจากต้องดูในทุกกระบวนการเจริญเติบโต การพิสูจน์บางอย่างต้องดูจนว่านออกดอก(ซึ่งว่านบางประเภทก็ออกดอกยากมากเสียอีก) หรือจนกว่าจะได้ต้นที่สมบูรณ์ ในบางครั้งอาจารย์ว่านหรือเซียนว่าน จะขอตัวอย่างมาทำการพิสูจน์หรือปลูกดู คนที่ไม่เข้าใจเจตนาหรือ “คิดลบ” ก็อาจมองเจตนาท่านเหล่านั้นในทางไม่ดีได้…ก็นานาจิตตังครับ ส่วนมากเซียนว่านเขาก็มีว่านของเขาที่ต้องดูแลมากพอแล้ว และก็ไม่ค่อยว่างอยู่แล้ว หากเสนอแล้วมิสนอง หนึ่งบวกศูนย์ก็ย่อมเท่ากับหนึ่งเท่าเดิมครับ จะมาหาว่าเซียนว่านชอบแทงกั๊ก ชอบหวงวิชา ชอบเอาแต่ได้ก็คงไม่ถูกครับ…ครูสมัยนี้ใจดียืดหยุ่นกว่าเมื่อก่อนเยอะแล้วนะครับ ครูสมัยเก่านี่ไม่ได้เลย ดุและหวงแหนวิชามาก ท่านเพียงต้องการรักษาความบริสุทธิ์ของวิชาเอาไว้ให้คนที่เหมาะสม ท่านว่า “…วิชามีค่าดั่งแก้วมณี… ใช่ประสงค์ตรงทรัพย์สิ่งสุวรรณ จะป้องกันมิให้ไพร่ได้วิชา..

สมัยตอนผมยังสะสมพระเครื่องอยู่นั้น เวลาเอาพระไปให้เซียนพระเครื่องช่วยเช็คพระนั้น ก็จะมีธรรมเนียมกำนัลด้วยพระในชุดนั้นด้วยเหมือนกัน ถือเป็นค่าครูค่าวิชา แต่เซียนจำนวนไม่น้อยก็จะเลือกเอาพระองค์ที่คิดว่าเราไม่เสียดาย เป็นมารยาทของวงการน่ะครับ…เล่าให้ฟังเฉยๆไว้เทียบเคียงนะครับ…

เรียบเรียงโดย อรรถวัติ กบิลว่าน

๑๘ – ๒๗ ส.ค.๕๗

อ้างอิง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook
คะแนนเฉลี่ยที่ผู้อ่านให้
[จำนวนผู้โหวต: 1 คะแนนเฉลี่ย: 5]
Bookmark the permalink.

Comments are closed.