ว่านสาวหลง ว่านที่ตีค่าเท่าแสนตำลึงทอง

เมื่อกล่าวถึงว่านที่ใช้ในทางเมตตา โดยเฉพาะในเชิงชู้สาว คงไม่มีนักเลงว่านทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่คนไหนไม่เคยได้ยินชื่อ “ว่านสาวหลง” กันนะครับ วันนี้เราจะมาแกะตำราโบราณที่กล่าวถึงว่านตัวนี้กัน

ว่านสาวหลงนี้มีกล่าวในตำราว่านโบราณหลายเล่ม ได้แก่

  • ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด : พยอม วิไลรัตน์ หน้า ๑๓๖-๑๓๘
  • ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์ : อาจารย์ชั้น หาวิธี หน้า ๑-๒
  • ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน : นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ หน้า ๓๘๙-๓๙๐
  • กบิลว่าน ๑๐๘ : สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร หน้า ๔๗

ว่านสาวหลงตัวผู้ (ต้นเขียว)

ว่านสาวหลง หรือ ว่านฤาษีสร้าง หรือ ฤาษีผสม

ว่านนี้โบราณท่านตีค่าไว้เท่าแสนตำลึงทองทีเดียว (เป็นอติพจน์ แปลว่าราคาประเมินค่าไม่ได้ อย่างคำว่าพ่อค้า ๕๐๐ ที่แปลว่าพ่อค้ามากมายครับ)  เพราะเป็นว่านที่หวงแหนปิดมาแต่โบราณ บรรดาท่านผู้ทรงวิทยาคุณในทางเสน่ห์ หวงแหนปิดบัง ไม่ยอมเปิดเผยให้ใคร ๆ รู้จักว่านนี้ ฉะนั้นในสมัยก่อน ที่การเล่นว่านยังไม่แพร่หลายและไม่ค่อยมีตำราที่ชัดเจนเช่นในทุกวันนี้ จึงหาคนรู้จักว่านนี้ได้น้อย แม้แต่ชื่อของว่านก็พากันงงกัน

ลักษณะ ใบเหมือนใบข่า แต่ปลายใบแหลมมากกว่าใบข่า ใบมีขนอ่อนนุ่ม หัวเหมือนหัวตะไคร้ รากเหมือนรากหญ้าคา หรือหัวคล้ายหญ้าชันกาด รากนั้นยาวมากเลื้อยไปตามผิวดิน ว่านนี้หายากมาก (สมัยก่อน) มีอยู่ทางกบินทรบุรี (เป็นอำเภอหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี) ดอกเป็นพวง ๆ เหมือนช่อพริกไทย(ตอนดอกตูม) ดอกสีเหลือง กลิ่นหอมมาก ว่านนี้มีกลิ่นทั้งที่ใบ ที่ต้น และที่ราก มีกลิ่นหอมตลอดทั่วทั้งต้น

ประโยชน์ เป็นว่านทรงคุณค่าในทางเมตตามหานิยมอย่างสูงสุด หากได้ว่านชนิดแท้มาแล้ว เพียงเอารากมาฝนหรือบดเป็นผงผสมกับสีผึ้ง หรือแช่น้ำมันจันทน์ หรือเพียงแต่เอารากถือติดตัวไป ผู้คนทั้งปวงก็จะงงงวยหลงรักใคร่ผู้มีว่าน หรือทาน้ำมันที่เข้าว่านจนหมดสิ้น ถ้าผู้ใดมีว่านนี้ปลูกไว้กับบ้านก็เป็นศิริมงคลเป็นยอดเสน่ห์แก่บ้านเรือน

เมื่อจะเอาหัวว่านนี้ผสมกับขี้ผึ้งสีปาก ให้เศกด้วยคาถาดังนี้ “มะอะอุ พุทธะสังมิ จิเจรุนิ นะชาลีติ ปิยังมะมะ” รวม ๗ ครั้ง

การปลูก ว่านนี้ท่านกำหนดให้ปลูกได้เฉพาะในวันจันทร์วันเดียวเท่านั้น วันอื่น ๆ ท่านห้ามมิให้ปลูก ขณะปลูกให้หันหน้าไปทางตะวันออก  แล้วจงอธิษฐานตามความประสงค์ของผู้ปลูกเถิด ดินที่ใช้ปลูกเอาดินเผาไฟแล้วทุบให้ละเอียดนำไปตากน้ำค้างทิ้งไว้คืนหนึ่งจึงเอามาเป็นดินปลูก เมื่อล้างกระถางจนปลูกสะอาดดีแล้ว นำดินที่เตรียมไว้ใส่ลงไปครึ่งกระถาง นำหัวว่านมาวางเอาดินกลบ และเกลี่ยให้ดินพอดีกับหัวว่าน น้ำที่ใช้รดเศกด้วย “อิติปิโสภควา ถึงภควาติ” เสีย ๓ จบก่อน จึงนำมารดพอเปียกทั่ว.

ว่านสาวหลงตัวเมีย (ต้นแดง)

ว่านชนิดนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amomum biflorum Jack วงศ์ Zingiberaceae มี ๒ ชนิดด้วยกัน คือ “ว่านสาวหลงตัวผู้” ต้นจะสีเขียวล้วนเชื่อกันว่าสรรพคุณดีกว่า และหายากกว่า อีกต้นคือ “ว่านสาวหลงตัวเมีย” ต้นสีแดง จะหาง่ายกว่าและฤทธิ์อ่อนกว่าชนิดตัวผู้ โดยแต่ละชนิดมีลักษณะแยกคือ ๑.มีขนเฉพาะใต้ใบ(ต้นที่พบโดยทั่วไป) ๒.มีขนทั้งบนใบและใต้ใบ(พบได้ทางอีสาน) โดยสรุปว่านนี้จึงมีอยู่ ๔ ต้นด้วยกันครับ

ว่านนี้ที่ยากคือการปลูก เนื่องจากหัวว่านมีขนาดเล็ก หากถอนต้นว่านแล้วต้องรีบเอาลงดินปลูกภายใน ๑๒ ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นหัวว่านและต้นว่านจะแห้งทำให้ปลูกไม่ติด ซึ่งอาจแก้โดยใส่ดินติดรากเล็กน้อยและใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงไว้หลวมๆเก็บกักความชื้นไว้ ก็จะอยู่ได้หลายวัน สำคัญคืออย่าให้ต้นและหัวแห้งเป็นใช้ได้ ว่านนี้ต้องให้น้ำตลอดปี เพราะไม่ลงหัว หากปล่อยไม่รดน้ำในฤดูแล้งโอกาสตายยกกอสูงมาก ดังนั้นการซื้อหาควรซื้อชนิดที่ใส่กระถางไม่ควรซื้อชนิดที่ถอนต้นขายเป็นมัดๆ

ช่อดอกว่านสาวหลง กลีบดอกขาวไส้ดอกเหลือง มีกลื่นหอมอ่อนๆ

ว่านนี้ออกดอกยากสักหน่อย ถึงยากมากก็ว่าได้ เคล็ดลับคือควรใช้กระถางดินเผาและเป็นกระถางขนาดใหญ่ ออดดอกปีละครั้ง ราวๆเดือนพฤษภาคม คือช่วงก่อนฤดูฝนเล็กน้อยหรือในช่วงต้นฤดูฝน ดอกเป็นช่อบานทีละดอก บานเพียง ๑ วันก็โรย หากจะเก็บทำมวลสารหรือสำหรับแช่น้ำมันต้องหมั่นดูทุกวันในช่วงออกดอก ดอกจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ

สำหรับต้น จะหอมที่สุดในช่วงฤดูแล้ง ฤดูฝนไม่หอมเท่าไร ถ้าจะเก็บเป็นมวลสารแนะนำให้เก็บในฤดูแล้งหรือเก็บต้นแก่ที่แห้งก็ได้ ต้นแก่จะให้กลิ่นหอมมาก ชนิดต้นแดงและต้นเขียวหอมพอๆกันแต่บางตำราว่าชนิดต้นเขียวหอมกว่า

ว่านนี้ชอบร่มรำไร งอกงามในดินที่ร่วนสักหน่อย และค่อนข้างชอบดินที่ชุ่มชื้น ตามป่าธรรมชาติพบได้ตามริมลำธาร บางแห่งเรียก “เร่วหอม” ซึ่งเร่วก็็็มีหลายตัวด้วยกัน เช่น เร่วใหญ่ เร่วน้อย เร่วหอม(ว่านสาวหลง) บางพื้นที่นำทั้งต้น มัดต้มในหม้อก๋วยเตี๋ยว ทำให้น้ำก๋วยเตี๋ยวมีกลิ่นหอมชื่นใจ

ว่านต้นนี้มีฤทธิ์ในทางเสน่ห์เมตตามหานิยมเป็นแบบนิ่มนวล ไม่รุนแรงและอันตรายอย่างกลุ่มพวกดอกทอง ว่านนี้จึงมีนามอีกประการว่า “ฤาษีสร้าง”  ซึ่งมีนัยยะว่าระดับฤาษีสร้างแล้ว ไม่ให้มีโทษอย่างแน่นอน จึงเป็นว่านอีกตัวที่ผมแนะนำครับ

ว่านนี้ทางเหนือหรือล้านนา เรียก “แหน่งหอม”โดยชาวล้านนาเชื่อว่าแหน่งหอมเป็นพืชมงคลที่ให้คุณทางเมตตามหานิยม จึงมักมีไว้เขตรั้วบ้าน และมีการเอาใจใส่ที่ค่อนข้างพิถีพิถันตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษาตลอดจนเก็บเกี่ยวนำไปใช้งาน ซึ่งจะค่อนข้างลึกซึ้งกว่าทางภาคกลางเสียอีก

ยันต์อิ่นแก้ว

การปลูกตามคติทางล้านนา

โดยทั่วไปนิยมปลูกไว้บริเวณมุมรั้วทิศตะวันออกเฉียงใต้(ทิศอาคเนย์) ก่อนปลูกจะล้อมรั้วรอบบริเวณด้วยรั้วราชวัตรที่ค่อนข้างแข็งแรงเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ สุนัข หรือ แมว เข้าไปรบกวน ทั้งนี้ ที่มุมรั้วยังพบว่ามีการฝังแผ่นยันต์โลหะที่ทรงคุณทางเมตตา อาทิ ยันต์โภคาสีวลี ยันต์อ้อมโหสถ ยันต์พญาแหน่งและ ยันต์อิ่นแก้ว เป็นต้น

ยันต์โภคาสีวลี ใช้ทางโชคลาภ

สำหรับดินที่ปลูกต้องเป็นดินที่ได้จาก “นาพระเจ้า” คือดินจากผืนนาของวัด ผสมทรายเสกที่ผ่านพิธีสวดพุทธมนต์จากสงฆ์ วันที่ปลูกมักเลือกเอาวันที่มีจันทรุปราคาที่ตรงกับวันจันทร์ คนปลูกต้องเกิดวันจันทร์ เดือนจันทร์ คือ เดือนยี่เหนือ ปีจันทร์ คือ ปีฉลู เวลาที่ปลูกต้องปลูกในยามจันทร์ คือ เวลาเช้าเจ็ดนาฬิกา และน้ำที่รดต้องเสกด้วยคาถา อิธะคะมะ อิสวาสุ จะภะกะสะ นะโมพุทธายะ 108 คาบ (ชาวล้านนาเชื่อกันว่าคนที่มีชะตาเกิดเกี่ยวข้องกับจันทน์จะทำวิชาเมตตาได้ขลัง เช่น บุคคลใดเกิดเมื่อวันเดือนปีคูณกันได้ ผล ๑๐๐ พอดี หรือวันเดือนปี เป็นจันทร์ นามจันทร์ เหมาะจะสร้างเสกอิ่นนัก…)

ยันต์มหาแหน่ง ที่ใช้ปลูกต้นแหน่ง (ว่านสาวหลง) คติเช่นนี้ข้าพเจ้าเคยพบในการปลูกว่านนางคุ้มสายวิชาหนึ่งที่จะมียันต์โดยเฉพาะ

การดูแลรักษา(ตามคติทางล้านนา)

การรดน้ำแต่ละครั้งมักเสกน้ำด้วยคาถาอย่างน้อยต้องเป็นบท “นะโมพุทธายะ” และคอยระมัดระวังมิให้สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะไก่ สุนัขหรือแมวเข้าไปในบริเวณที่ล้อมรั้วไว้ และแม้รั้วก็มีการห้ามนำเสื้อผ้าไปตากโดยเด็ดขาด

การเก็บเกี่ยว

วันที่จะกู้(เก็บเกี่ยว)ต้นหรือรากแหน่งหอมควรเป็นวันที่อยู่ในลักษณะเหมือนวันเวลาที่ปลูก รวมทั้งคนเก็บกู้ควรอยู่ในลักษณะนั้นด้วย เมื่อเก็บเกี่ยวมาแล้วต้องนำไปตากในที่สูงจนแห้งสนิท

ยันต์จันทสุริยา 

การนำไปใช้

ส่วนของดอกและรากนิยมแช่ไว้ในน้ำมันจันทน์ เพื่อใช้ทาตัว ทาผม แตะหน้าผาก รากส่วนหนึ่ง มักบดเป็นผงหรือฝนผสมขี้ผึ้งเก็บไว้ในตลับที่ลงยันต์ “จันทสุริยา” ไว้ รากบางรากพบว่ากลายสภาพเป็นหินซึ่งพบน้อยมาก หากพบมักนิยมนำไปแกะเป็นรูป “อิ่น” คือ รูปชายหญิงกอดกันเก็บไว้บูชาเป็นเครื่องรางประเภทมหานิยม ส่วนของต้นหรือใบจะนำไปใส่ในหีบเสื้อผ้าเพื่อให้มีกลิ่นหอมมีเสน่ห์เมื่อมีคนได้กลิ่น

ยันต์อ้อ มโหสถ ดีทางปัญญา

 

จากความเชื่อด้านเมตตามหานิยมดังที่ได้กล่าวมา ชาวล้านนานิยมปลูกแหน่งหอมไว้กับบ้าน อย่างน้อยผู้คนในบ้านก็จะได้เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย และในด้านการค้าขาย ถ้านำใบสด ๆ ไปรองภาชนะใส่เงิน จะทำให้ค้าง่ายขายคล่อง และแม้กระทั่งจะเดินทางไปแห่งไหนก็มีการพกพาต้นหรือรากติดตัวไปด้วย เชื่อกันว่าจะประสบแต่สิ่งที่ปรารถนาทุกคราไป

อ้างอิง

เรียบเรียงโดย อรรถวัติ กบิลว่าน

๒๕ ส.ค. ๒๕๕๖ เพิ่มเติมและ รีรัน ม.ค. ๒๕๖๒

ทีมงาน: ssbedu.com

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook
คะแนนเฉลี่ยที่ผู้อ่านให้
[จำนวนผู้โหวต: 1 คะแนนเฉลี่ย: 5]
Bookmark the permalink.

Comments are closed.