ว่านที่เรียกว่าไพล (ตอนที่ ๓ ตอนจบ)

“ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” โดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น

๗. ว่านไพรชมพู(๖) ลักษณะลำต้นใบเหมือนไพรธรรมดา หัวเนื้อในสีชมพู กลิ่นฉุนน้อยกว่าไพรธรรมดา สรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ

ว่านไพรชมพู(๑๕) เนื้อในหัวสีชมพูอ่อน ดอกเป็นช่อติดดิน และมีแต้มกระสีชมพู

พืชชนิดนี้เป็นพืชตระกูลไพล ผิดแต่ว่าสีเนื้อในหัวเป็นสีชมพู ที่แพร่หลายทั่วไปเป็นแบบหัวสีชมพูอ่อนๆ พบว่ายังมีอีกต้นที่เนื้อในหัวมีสีชมพูเข้มซึ่งหาได้ยากกว่า เรียกแยกไปว่า “ไพลแดง” ครับ

ว่านไพรป่า(๖,๑๑)

๘. ว่านไพรป่า(๖) ลักษณะลำต้น ใบ เล็กกว่าไพลธรรมดา หัวเล็กกว่า เนื้อในสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นฉุนจัดกว่าไพลธรรมดา เมื่อหักหัวออกจะมีน้ำของหัวซึมออกมามากกกว่าหัวไพลธรรมดา สรรพคุณเป็นแบบพืชพวกไพลคือใช้หัวทุบพอแหลก พอกทาแก้เคล็ด ขัดยอก บวม

ดอกว่านไพรป่า(๑๔) ช่อดอกแก่จะมีแดงจัดกว่าไพรบ้านมองดูคล้ายดอกปุดเพียงแต่ดอกปุดออกดอกติดดิน

จุดเด่นอีกประการของว่านนี้คือสีของช่อดอกที่เมื่อแก่แล้วจะแดงเข้มกว่า ไพลบ้านครับ

ทั้งแปดชนิดข้างต้นคือว่าน/ยาที่เรียกว่า “ไพล” ที่มีกล่าวในตำรับกบิลว่านภาคกลาง ในตำราเก่า ๑๒ เล่ม ซึ่งต่อมาในยุคหลังๆที่วงการว่านเริ่มคึกคัก ก็มีผู้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับว่านต่างๆเพิ่มมากขึ้น บ้างก็เป็นว่านสายพันธ์ไทยที่มีตัวตนจริง คือพบได้ในป่าเมืองไทย ซึ่งตกสำรวจในตำรายุคแรกๆ บ้างก็เป็นว่านเฉพาะท้องถิ่น บ้างก็เป็นว่าน “ข้าตั้งเอง” โดยจับเอาไม้เมืองนอกมาตั้งชื่อว่าเป็นว่านเพื่อหวังผลทางการค้า และบ้างเป็นตัวที่มีการหวงแหนปกปิดกันมากและมาเปิดเผยชัดเจนกันภายหลัง ข้อมูลเกี่ยวกับว่านไพรดำนั้นแยกออกมาเป็นอย่างน้อย ๕ ต้น คือ

๑)ต้นที่เรียกว่าไพลดำ ที่กล่าวตามตำราว่านเก่า คือต้น กระทือดำ : Zingiber ottensii  Valeton. (สาย อ.หล่อ เรียกว่าว่านไพลม่วง) ลักษณะเด่นคือต้นใหญ่กว่าไพลธรรมดากว่าเท่าตัว ต้นนี้เป็นต้นที่แพร่หลายในตลาดว่านยุคปัจจุบันนั่นเอง เนื่องจากขยายพันธ์ได้ง่ายกว่าและเซียนว่านไม่หวงแหนเก็บไว้ เพราะรู้ว่าต้นที่ใช้ทางไสยศาสตร์จริงๆคืออีกต้นหนึ่งนั่นเอง

ไพลดำ(๑๔) Zingiber spectabile Griff. ต้นที่เรียกดากเงาะหรือไพลใจดำ ต้นของหมอ วุฒิ วุฒิธรรมเวช ซึ่งได้จากอุดรธานี

๒)ไพลดำอีกต้นซึ่งเผยแพร่ออกมาอย่างชัดเจนในยุคหลัง หลังจากที่หวงแหนปิดบังกันมานาน ซึ่งตามข้อมูลสรุปได้ว่ามีเล่นกันมานานแล้วแต่ไม่ค่อยมีการเผยแพร่ อาจจะมาก่อนต้น “กระทือดำ”ด้วยซ้ำไป นั่นคือไพรดำชนิดต้นแท้ที่เข้ากับไพลดำในตำนานคู่เหล็กไหล-ไพลดำมากที่สุดที่พอจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ที่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นนิทานจนเกินไป ไพลดำต้นนี้เป็นชนิดต้นเล็ก ขนาดราวๆกับไพลธรรมดาหรือเล็กกว่า(๑๓,๑๔) ทางใต้คือต้นที่เรียกว่าดากเงาะ ทางอีสานคือต้นที่เรียกว่าไพลใจดำ ทางพฤกษศาสตร์คือ Zingiber spectabile Griff. ดังที่กล่าวในข้างต้นแล้ว

ว่านไพลดำ(๑๙) ต้นของ อ.หล่อขันแก้ว จากตำรา “คู่มือดูว่าน” ของสมาคมว่านแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นชนิดต้น ดากเงาะ หรือไพลใจดำนี้นั่นเอง โดยสาย อ.หล่อ ก็มีการเล่นหาไพลดำต้นกระทือดำด้วย โดยท่านเรียกว่า “ว่านไพลม่วง” ครับ

 

รูปไพลดำต้นที่กล่าวใน ๑๐๘ ว่านมหัศจรรย์ เล่ม ๒ โดย ส. เปลี่ยนศรี

ต้นนี้แตกหน่อน้อยมาก มีรากเก็บอาหารพองออกเหมือนกระชาย เนื้อในเหง้าและกระโปกสีดำ กลิ่นทั้งต้นและเหง้าเหมือนไพรบ้าน นิยมนำมาทำเป็นยาสักหรือฝังในร่างกาย ถือว่าทำให้อยู่ยงคงกระพัน ถ้ากินเหง้าจะอยู่คงได้ ๗ วัน แต่ถ้าฝังจะอยู่ได้ตลอด เชื่อกันว่าของแสลงของผู้ฝังไพลดำคือห้ามกินข้าวเหนียวดำและเป็ดเทศ เพราะจะทำให้จืดคือเสื่อม โดยว่านจะสลายตัวซึมออกมาทางผิวหนังเป็นสีดำๆ เล่นหากันในหมู่นักแสวงหาเหล็กไหล จึงมักเรียกคู่กันว่า “เหล็กไหลไพลดำ”(๑๔)

ไพลดำชนิดนี้ลักษณะดอกจริงมีสีขาว เมื่อดอกสีขาวร่วงหล่นแล้วกลีบเลี้ยงดอกจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีแดงแต่ไม่ถึงกับแดงคล้ำแล้วสีจะค่อยๆจางไป ลำต้นของว่านชนิดนี้โตไม่มากกว่าขนาดของแท่งดินสอ ว่านชนิดนี้เมื่อนำหัวมาขีดฝนกับฝาละมีหม้อข้าว เมื่อหุงข้าวแล้วข้าวจะมีสีดำทั้งหม้อตามดั่งตำราโบราณว่า(๑๓)

ต้นนี้ฟอร์มมีทั้งต้นใบใหญ่และใบแคบเล็ก โดยหากอ้างอิงตามตำรา อ.หล่อและ อ. ส.เปลี่ยนสี จะเป็นชนิดใบใหญ่ครับ

๓)ไพลดำต้น “ไพลขาวไพลดำ” Zingiber kerrii Craib. ชื่อท้องถิ่นว่า ขิงดา หรือขิงแมงดา ต้นนี้เดิมทีเข้าใจว่าอาจจะเป็นความคลุมเครือของตำรา แต่ต่อมาพบว่ามีต้นตามบรรยายในตำราของ อ.พยอม วิไลรัตน์ นี้อยู่จริง ทาง อ.เลื่อน กัณหะกาญจนะ เรียกและใส่ชื่อวิทยาศาสตร์ไว้ในส่วนของว่านไพลขาว แต่ไพลขาวที่ลงในบทความนี้ผมขอยึดตามสายของ อ.หล่อ ขันแก้ว ซึ่งเป็นพืชพวกขิงแห้ง เครือเดียวกับไพลชมพู ซึ่งมีลักษณะเด่นคือช่อดอกสั้นติดดินครับ

๔)ยังมีไพลในตำนานอีกต้นหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นพืชอาถรรพ์ ตำนานนิทานเล่าว่าอยู่ทางฝั่งลาวหัวโตดังตุ่มน้ำ มีใบเดียวขึ้นสลับกันไปปีละข้าง ใช้ยางที่มีสีดำในทางอยู่คง หากเอาข้ามลำน้ำโขงมาจะหมดอิทธิฤทธิ์ ด้วยเพราะเป็นคำสาปของพระยาศรีโคตระบอง

๕)ไพลดำอีกต้นอยู่ที่ชัยภูมิเรียกว่า “ไพรดำต้นลุงสัมฤทธิ์”(๑๘) เจ้าของกล่าวว่าเป็นต้นที่เป็นมรดกตกทอดจากตระกูลปลูกต่อๆกันมาถึง ๖ ชั่วอายุคน พิสูจน์โดยใช้ผ้าขาวรูดจับที่ใบ ผ้าขาวก็มีคราบสีดำติด เนื้อในหัวสีดำมาก ใช้เพียงก้านธูปจุ่มลงในผงไพลดำเล็กน้อยแล้วไปจุ่มในน้ำ ทำให้น้ำเปลี่ยนสีคล้ำขึ้นมาได้ เจ้าของกั้นเขตเอาไว้ ห้ามคนเข้าใกล้โดยกล่าวว่าว่านมีฤทธิ์แรงจะตอดทำอันตรายคนได้ ดินที่ปลูกจะมีสีดำจัดและแข็งดังหิน  การกู้ต้องมีวิธีการและฤกษ์ในการกู้เฉพาะ ต้นนี้ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นต้นสายพันธุ์เดียวกับไพลดำต้นวัดเพี๊ยะไซ ซึ่งพิสูจน์โดยนำผ้าขาวมารูดจับใบเช่นเดียวกัน และผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าต้นนี้น่าจะเป็นต้นที่เรียกว่าไพลใจดำ หรือดากเงาะหรือไม่ก็เป็นมิวแตนที่หาได้ยาก และคงเลี้ยงด้วยเทคนิคกรรมวิธีพิเศษจนทำให้มีคุณลักษณะพิเศษขึ้น

ลูกประคำทำจากดินข้างไพรดำ ต้นของปู่ฤาษีไพรดำ

๖)ไพลดำต้นของปู่ฤาษีไพรดำ จ.ชัยภูมิ ผู้บำเพ็ญในแนวโพธิสัตว์ ท่านออกจะปิดตัวสักหน่อย จึงไม่ขอลงรายละเอียดอะไรมากถือว่าเป็นไพรดำต้นกายสิทธิ์ต้นหนึ่งเนื่องจากมีตำนานที่มาค่อนข้างโลดโผนทีเดียว

สุดท้ายเรื่องราวของไพลดำในตำนานนั้นบางสิ่งก็ยังเป็นเรื่องราวที่รอการพิสูจน์ต่อไป โดยผู้เขียนเองก็ไม่อยากให้สนใจเป็นจริงเป็นจัง จน “ศรัทธา” เลยขอบเขตของคำว่า “ปัญญา” นัก เพราะบ่อยครั้งทีเดียว ที่พบว่ามีคนได้เลือดจนกระทั้งเสียชีวิตจากการ “ลองของ” ว่านที่เรียกว่าไพลดำนี้

ขอให้ตระหนักว่าอันของดีภายนอกนั้นมิอาจสู้ของดีภายในคือ คุณธรรมศีลธรรมไปได้ เพราะสมบัติภายในนั้นเป็นที่พึ่งและกำจัดภัยได้จริง และเป็นสมบัติที่ติดตัวไปหลายภพหลายชาติ จนอาจถึงที่สุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดครับ ขอฝากคำครูส่งท้ายของคนโบราณที่ยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยคือ

 ” เหล็กไหลไพลดำ  พูดพล่ามเป็นบ้า

           เล่นแร่แปรธาตุ    ผ้าขาดตั้งวา  “

เรียบเรียงโดย อรรถวัติ กบิลว่าน

๔ ต.ค. ๒๕๕๔๒๒ พ.ย. ๒๕๕๔
——————————————————-

อ้างอิง

๑. “คู่มือนักเล่นว่าน” โดย ล.มหาจันทร์

๒. “ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด” โดย พยอม วิไลรัตน์

๓. “ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน” โดย อุตะมะ สิริจิตโต

๔.“ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์” โดย อาจารย์ชั้น หาวิธี

๕. “ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน” โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ

๖. “ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” โดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น

๗. “กบิลว่าน ๑๐๘” โดย สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร

๘. คาถาพระเจ้า 16 พระองค์ http://www.e-sarnsakyan.com/webboard/index.php?topic=213.0

๙. ยันต์พระเจ้า๑๖พระองค์ : ๑๐๘ ยันต์ ฉบับพิสดาร ของ อ. อุรคินทร์ วิริยะบูรณะ. http://www.neutron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=791&Itemid=5&limit=1&limitstart=98

๑๐. คัมภีร์ไสยศาสตร์ ฉบับสมบูรณ์ : อาจารย์ โหรญาณโชติ(ชัยมงคล อุดมทรัพย์)

๑๑. ว่าน ในตระกูลไพล : โดย นพคุณ คุมา ; http://www.magnoliathailand.com/webboard/index.php?topic=0

๑๒. ตะลุยดงว่าน เล่ม 1 โดย เชษฐา พยากรณ์

๑๓. 108 ว่านมหัศจรรย์ เล่ม 2 โดย ส. เปลี่ยนศรี , ศุภกิจ บุตรหงส์

๑๔. สารานุกรมสมุนไพร โดย วุฒิ วุฒิธรรมเวช

๑๕. ว่านอะไรค่ะ โดย lois และ nobile_nok : http://www.magnoliathailand.com/webboard/index.php?topic=10223.msg283141#msg283141

๑๖. สารานุกรมพืชในประเทศไทย เรื่อง กำลังช้างสาร http://web3.dnp.go.th/botany/detail.aspx?wordsLinkno=1092&words=%A1%D3%C5%D1%A7%AA%E9%D2%A7%CA%D2%C3&typeword=word

๑๗. หิรัญญิการ์ : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=endless9&month=01-2009&date=30&group=13&gblog=9

๑๘. สักไพรดำกับหลวงปู่เณรครับ โดย ธรรมปุ้ย http://www.jomvet.com/forum/index.php?topic=0

๑๙. “คู่มือดูว่าน” ของสมาคมว่านแห่งประเทศไทย โดย นายโอภาส ขอบเขตต์ และ หล่อ ขันแก้ว

ทีมงาน: ssbedu.com

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook
คะแนนเฉลี่ยที่ผู้อ่านให้
[จำนวนผู้โหวต: 1 คะแนนเฉลี่ย: 5]
Bookmark the permalink.

Comments are closed.