ว่านที่จัดเป็นไม้ใบ หรือไม้ประดับที่เล่นกันในยุคหลังๆแล้วนั้นมีอยู่กลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจและมักจะมีการเล่นหาสลับชื่อกันบ้าง สลับต้นกันบ้าง ด้วยลักษณะทางภายนอกที่ยากแก่การแยกแยะ เว้นแต่ผู้นั้นจะมีครบทุกต้นแล้วปลูกเทียบดู(พร้อมทำป้ายให้ชัดเจน) ก็พอจะเกิดความชำนาญในการแยกแยะได้ แต่อย่างไรว่านกลุ่มนี้ที่แนะนำอย่างยิ่งคือจะขาดป้ายไม่ได้ เพราะบางคราวบางจังหวะเขาจะหน้าตาเหมือนๆกันเอามากๆ จนบางทีเจ้าของเองอาจจะงงเอาได้
ว่านตัวนี้ในทางพฤกษศาสตร์จัดว่าเป็นชนิดเดียวกันทั้งหมด หลักการเดียวกับพริก ไม่ว่าจะเป็นพริกขี้หนู หรือพริกชี้ฟ้า ฝรั่งจัดเป็นชนิดเดียวกันหมด ในทางพฤกษศาสตร์นอกจากจะจำแนกกลุ่มจากลักษณะโดยรวมแล้ว จะตัดประเภทกันที่ดอก ฝรั่งมักใช้ใช้ดอกเป็นหลักในการแยกประเภท ซึ่งว่านกลุ่มนี้ดอกมีลักษณะคล้ายคลึงกันครับ สำหรับคนไทยจะแยกละเอียดกว่าเพราะแยกจากลักษณะต่างๆที่ต่างกันเล็กน้อย ตลอดจนแยกไปถึงการใช้ประโยชน์ในทางความเชื่อกันเลยทีเดียว
ว่านในกลุ่มนี้เป็นกลุ่ม Amazon Lily มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eucharis grandiflora มีด้วยกัน ๔ ชื่อคือ
- กวักนางพญาใหญ่
- กวักนางพญามหาเศรษฐี
- กวักพุทธเจ้าหลวง
- มหาโชค (นางมาควดี)
๑) ว่าน “กวักนางพญาใหญ่” มีกล่าวในตำราว่านเก่า ได้แก่
- “ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” โดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น หน้า ๒
- “กบิลว่าน ๑๐๘” โดย สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร หน้า ๑๔
ตามตำราได้บรรยายลักษณะโดยรวมว่า ใบสีเขียวจัด เป็นมันคล้ายใบผักตบชวา แต่มีขนาดใหญ่กว่าใบผักตบชวามาก ช่อก้านเขียวเป็นมัน อาจยาวได้ถึง ๑ เมตร ดอกมีสีขาว หัวคล้ายหัวหอมใหญ่ สรรพคุณ เลี้ยงไว้ทำให้เกิดโชคลาภ เป็นศิริมงคล เมตตามหานิยม ว่านนี้ มีอีกชื่อคือ “กวักนกกระยาง”
ต้นนี้ความจริงเป็นไม้เมืองนอกแต่เข้ามาในประเทศไทยนานแล้ว การที่ใบมีสีเขียว และเป็นพืชอวบน้ำ เมื่อให้น้ำตลอดจะไม่ลงหัว เมื่อปลูกไว้จะดูสดชื่นมีสง่าราศี ความเชื่อที่บ่มเพาะกันเป็นเวลานาน จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ไม้นอกตัวนี้เลื่อนเข้าสู่ชั้น “ว่าน” โดยปริยาย เพราะความจริง คำว่าว่านที่นำหน้าต้นไม้นั้น เป็นการให้ยศให้ตำแหน่งพืชที่มีความพิเศษโดดเด่นบางประการ บ้างก็ในทางความเชื่อ บ้างก็ในทางยา นี่คือลูกเล่นและความแยบคายของโบราณเขาครับ
ว่านชนิดนี้ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกมี ๖ กลีบลักษณะเด่นชัดที่แยกว่านตัวนี้คือ ต้นจะมีขนาดใหญ่สุดในกลุ่ม โดยการแยกนั้นควรแยกที่การปลูกอย่างน้อยแล้ว ๒ ปีขึ้นไปจึงจะแยกได้ชัดเจน ใบของกวักนางพญาใหญ่จะมีขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ ในขณะที่ต้นอื่นๆจะเล็กกว่าฝ่ามือ และใบของกวักนางพญาใหญ่จะมีขนาดใหญ่จนทำให้หูใบชิดกัน และด้วยใบที่ใหญ่นี้เอง จึงมองดูคล้ายกับปีกนกกระยาง จึงได้มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “กวักนกกระยาง” และถึงแม้ตำราจะบอกว่าใบสีเขียวจัดก็ตาม แต่กวักนางพญาใหญ่นี้สีเข้มไม่สู้มหาโชคหรือกวักนางพญาเล็ก สีใบจะดูเขียวด้านๆไม่เขียวและมันเท่าตัวอื่น
๒) กวักนางพญามหาเศรษฐี หรือกวักนางพญาเล็ก หรือกวักใบพลู ว่านนี้มีกล่าวในตำราของ
- “ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน” โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ หน้า ๑๗๙ เรียก ว่านนางกวัก
- “ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” โดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น หน้า ๒-๓ เรียก กวักนางพญาเล็ก หรือ กวักใบพลู
- “กบิลว่าน ๑๐๘” โดย สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร หน้า ๑๓ เรียก ว่านสมเด็จนางพญามหาเศรษฐี
ในตำราบรรยายโดยรวมว่า เป็นว่านหายากมากอีกชนิดหนึ่ง มีในป่าทางภาคเหนือ เข้าใจว่านิยมเล่นกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง เพราะเมื่อท่านดำรงตำแหน่งเจ้าพระยากลาโหมนั้นได้นิยมเล่นว่านต่าง ๆ มาก พอได้ทรงครองราชย์พวกข้าราชการและขุนนางทั่วไปจึงนิยมตามอย่างพระมหากษัตริย์ไปด้วยทั่วกัน จึงเป็นระยะที่ว่านถูกสืบเสาะหามาเลี้ยงมากมาย
ลักษณะ หัวคล้ายหัวกระเทียม แต่หัวโตกว่าลำต้นและใบคล้ายขมิ้นอ้อย สีเขียวเข้มและมีเส้นใยมาก แต่มีครีบตามใบและตามลำต้นเป็นสีแดงหม่น ๆ เมื่อยอดแตกออกมาจะมีสีแดง ใบม้วนลงเข้าหาลำต้น ตอนกลางใบขอบหยุกหยิกเป็นครีบเล็กน้อย ก้านใบเป็นร่อง ดอกมีสีขาว
ประโยชน์ เมื่อพบว่านนี้แล้ว ต้องทำกระทงสามมุม ใส่เหล้า ข้าว เนื้อปลา หมาก ๓ คำ พลีกรรมเสียก่อน แล้วเศกคาถา “นะโมพุทธายะ” ๓ ถึง ๗ คาบทำน้ำพรมให้ทั่วรอบต้น แล้วจึงขุดเอาหัวมาแกะเป็นรูปนางกวัก และเมื่อแกะเสร็จแล้ว ต้องการจะปลุกเศกรูปให้มีอิทธิฤทธิ์ขลังศักดิ์สิทธิ์แล้ว จะต้องถือศีล ๕ ศีล ๘ ถือเป็นความสุจริตทำน้ำมนต์ด้วยคาถา “อิติปิโสภควาถึงภควาติ” เสีย ๗ คาบ ชำระตัวให้สะอาดบริสุทธิ์ดีเสียก่อน ๓ วัน แล้วจึงเข้าพิธีปลุกเศกในพระอุโบสถด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” ๑๐๘ คาบ เสร็จแล้วจึงนำเอาหัวว่านที่แกะเป็นรูปนางกวักนั้นมาตั้งบูชาไว้ในที่สูงภายในหน้าร้านค้า จะทำให้ขายสินค้าต่าง ๆ ได้ง่ายดาย
ถ้าจะทำให้เกิดเสน่ห์มหานิยมแก่ตนให้เอาหัวว่านมาฝนทาหน้าทาตัว แล้วเศกด้วย “นะโมพุทธายะ” ๑๐๘ คาบเหมือนกัน ถ้าจะทำให้เป็นล่องหนหายตัวได้ให้เอาหัวว่านมาห่อด้วยผ้าเช็ดหน้า แล้วเอาโพกหัว จะทำให้เป็นผู้ล่องหนหายตัว ไม่มีใครแลเห็นได้ด้วยอำนาจว่านนั้นปิดบังเอง ปรารถนาสิ่งหนึ่งประการใด ก็มักจะได้สมปรารถนาทุกสิ่งทุกประการเลย ว่านนี้ยังมีอำนาจบังตามิให้พูดบอกใครว่า พบเห็นตัวเราที่ไหนต่อไหนอีกด้วย
เพียงเอาว่านนี้ปลูกไว้ในร้านขายของ ก็อาจสามารถเป็นเสน่ห์ชักจูงให้มีคนเข้ามาอุดหนุนในร้านนั้น ๆ วันละมาก ๆ เสมอ
* คำบรรยายข้างต้นทำให้เกิดการตีความและแยกพืชได้เป็นสองต้น คือ
๑. ว่านนางกวักต้นขมิ้น ซึ่งในภายหลังเรียกกันว่า “ปัดตลอดตัวผู้” ซึ่งต้นนี้จะใช้เป็นเครื่องยาในการเขียนผงพุทธคุณ
๒. ว่านนางกวักต้นหัวหอม หรือกวักนางพญามหาเศรษฐี ซึ่งเป็นต้นที่ทาง อ.ชุม ไชยคีรี แห่งสำนักกุญแจไสยศาสตร์ใช้ผสมในน้ำมันโสฬส
ว่านนี้โดยทั่วไปคล้ายกวักนางพญาใหญ่มากเพียงแต่ใบมีขนาดเล็กและก้านสั้นกว่า นอกนั้นดูเหมือนกันหมดแทบแยกไม่ออก
การปลูก ว่านนี้ปลูกยากอยู่สักหน่อย เพราะจะต้องเอาใจใส่ตรวจตราระวังมิให้มีสิ่งโสโครกสกปรก หรือลามกเข้าไปใกล้กรายได้จึงจะดี เวลาจะรดน้ำต้องเศกด้วย “นะโมพุทธายะ” เสีย ๓ ครั้งก่อน และว่าตามด้วย “อิติปิโสภควาถึงภควาติ” อีก ๓ ครั้งด้วยเสมอไป แล้วจึงรดน้ำได้ ดินที่ใช้ปลูกต้องเอาดินกลางแจ้งเป็นดินร่วนปนทราย ไม่มีสิ่งปฏิกูลอย่างใดเจือปน และถ้าใช้ดินเผาไฟแล้วเอามาทุบให้แตกได้ก็จะดีมาก
ว่านนี้ถ้าเทียบชั้นตามความเชื่อแล้วถือว่าเอกอุกว่ากวักนางพญาใหญ่ แต่ประเด็นคือว่านนี้ต้องตั้งใจปลูกและทำวิชาให้ถึง จึงจะเป็นไปดังฝอยที่บรรยายเอาไว้ เรียกกันว่าแล้วแต่คนเลี้ยงมากกว่า หรือแล้วแต่วาสนาของคนเลี้ยงก็ไม่เชิง เพราะแปลกแต่จริงว่านกลุ่มนี้มักมีประสบการณ์การถูกหวยรวยเบอร์ช่วงว่านออกดอกกันเสมอๆ และว่านต้นนี้เป็นว่านสำคัญตัวหนึ่งในการทำ “น้ำมันว่านโสฬส” ของอาจารย์ชุม ไชยคีรี สำนักกุญแจไสยศาสตร์ (สายวิชาเขาอ้อ)ครับ การแยกนอกจากเทียบขนาดแล้วอาจดูความมันของใบที่จะมันกว่ากวักนางพญาใหญ่ แต่ใบไม่ดูหนาและแข็งเท่ามหาโชค คือขอบใบจะพลิ้วกว่า แต่ก็มีอีกต้นที่ขอบใบไม่พลิ้วซึ่งหายากกว่า และต้นนี้เองที่น่าจะเรียกแยกไปว่า “กวักใบพลู”
อรรถวัติ กบิลว่าน
ทีมงาน: ssbedu.com