๓) “กวักพุทธเจ้าหลวง” มีกล่าวในตำราเก่า ได้แก่
- “ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” โดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น หน้า ๑-๒
- “กบิลว่าน ๑๐๘” โดย สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร หน้า ๑๑
กล่าวลักษณะโดยรวมคือ ต้น ก้าน ใบ คล้ายกวักนางพญามหาเศรษฐี แต่ใบจะย่นๆ บิดๆ พื้นใบไม่เรียบ ปลายใบงุ้มเหมือนปากนก พื้นใบมีสีเขียวๆเหลืองๆ ก้านดอกมีลายเขียวๆเหลืองๆทั่วก้าน ดอกมีสีขาวมีกลีบ ๖ กลีบ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ว่านนี้เชื่อกันว่าเป็นว่านที่ดีกว่าว่านกวักทั้งหลาย ทำให้เกิดเมตตามหานิยม โชคลาภ คุ้มครองป้องกันภัยพิบัติต่างๆ เป็นว่านที่หายากเจ้าของมักหวงแหนนัก

กวักพุทธเจ้าหลวง(แท้อันดับ ๑ สายเจ้าดารารัศมี)ใบจะมันและดูแข็งแรง
เชื่อกันว่าว่านต้นนี้เกิดจากพระบารมีของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๕) ที่พระองค์ทรงเลี้ยงว่านกวักนางพญามหาเศรษฐีแล้วเกิดการกลายสายพันธ์ขึ้นเป็นลักษณะใบบิดพริ้วมองดูสวยงาม และว่ากันว่าทรงโปรดว่านต้นนี้มาก โดยทรงรดน้ำด้วยพระองค์เองโดยตลอด ปัจจุบันสายพันธ์ว่านต้นดังกล่าวสืบทอดมายังเจ้าดารารัสมี ซึ่งว่านต้นดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างจาก กวักพุทธเจ้าหลวงที่พบอยู่ทั่วไปคือ มีความเงามันของใบและดูแข็งแรงเป็นพิเศษกว่ากวักพุทธเจ้าหลวงต้นอื่น

ดอกว่านกวักพุทธเจ้าหลวงต้นแท้(อีกต้น๑) คู่กับต้นสายเจ้าดารารัศมี แต่ดอกว่านของสายเจ้าดารารัศมี ดอกไม่บิด
และว่านกวักพุทธเจ้าหลวงนี้ถ้าปลูกรวมกับกวักตัวอื่นๆจะทำให้กวักตัวอื่นเหล่านั้นกลายลักษณะเป็นดั่งกวักพุทธเจ้าหลวงด้วยคือใบหงิกบิดพริ้ว และแม้จะแยกกันคนละที่แล้วก็ตาม ก็ยังคงลักษณะบิดงอไปได้เป็นปีๆ ซึ่งความเป็นจริงแล้วทางวิทยาศาสตร์ ระบุเป็นการติดโรคไวรัสพืชนิดหนึ่ง ซึ่งติดต่อถึงกันได้ทั้งทางลมและทางน้ำ เช่นเดียวกับไวรัสมะละกอครับ
ดังนั้นที่มาของกวักพุทธเจ้าหลวงและกวักพุทธเจ้าหลวงกลายเหล่านี้จึงอนุมานถึงที่มาได้ ๒ สาย คือ ๑.สายที่มาจากวังจริงๆ ซึ่งจะมีลักษณะเด่นแตกต่างคือ ใบมัน และดูแข็งแรงกว่าต้นอื่นๆ ดอกไม่ย่นบิดพลิ้ว(ต้นแข็งแรงเหมือนไม่ติดโรค) อีกสายหนึ่งน่าจะเป็นกวักนางพญามหาเศรษฐีต้นเดิม(ซึ่งถือกันว่าเอกอุอยู่แล้ว) ที่ติดโรคพืชจนเข้ากินลึกถึงดอกจนกระทั่งดอกที่ออกเข้ามามีลักษณะบิดพริ้ว และด้วยความที่ติดโรคจนลงลึกนี่เองที่เป็นเหตุให้ว่านนี้เลี้ยงแล้วให้หัวยากมาก

ดอกว่านกวักนางพญาใหญ่แปลง ที่ดอกขนาดใหญ่ขอบใบไม่บิด แต่ก้านใบมีรอยกระสีจางสลับเข้มที่เกิดจากการติดโรค
ดังนั้นด้วยความที่โรคนั้นติดกันได้จึงทำให้มีกวักพุทธเจ้าหลวงกลายมากมายในท้องตลาด เพราะส่วนใหญ่เกิดจากกวักนางพญาใหญ่ที่ติดโรค ซึ่งหากเลี้ยงไปเรื่อยๆหรือทิ้งให้ลงหัวใบที่แตกมาใหม่ก็จะค่อยๆหายจากโรคได้กลายกลับเป็นกวักนางพญาใหญ่ตามเดิม ซึ่งต้นนี้ อ.หล่อ ขันแก้ว เรียกว่า “กวักนางพญาใหญ่แปลง” หรือ “ว่านกวักพุทธเจ้าหลวงอันดับสอง” จุดเด่นถ้าไม่ดูดอกต้องดูฟอร์มต้นที่ใหญ่ และมีหูใบชิด ใบด้านไม่มัน ถ้าฟอร์มต้นใหญ่มากๆให้สงสัยว่าจะเป็นกวักนางพญาใหญ่กลายไว้ก่อนได้เลย แล้วค่อยมาตัดกันที่ดอกอีกทีหนึ่ง
๔) ว่านนางมาควดี หรือ ว่านมหาโชค ว่านนี้มีกล่าวในตำราว่านเก่าหลายเล่มด้วยกัน คือ
- “ลักษณะว่าน” โดย นายชิต วัฒนะ หน้า ๕-๖ เรียก ว่านนางมาคะวดี
- “ตำหรับ กระบิลว่าน” โดย หลวงประพัฒสรรพากร หน้า ๒๔
- “คู่มือนักเล่นว่าน” โดย ล.มหาจันทร์ หน้า ๕๙-๖๐
- “ตำราสรรพคุณยาไทย ว่าด้วยลักษณะกบิลว่าน” โดย นายไพทูรย์ ศรีเพ็ญ หน้า ๘๐ เรียก ว่านนางมาควะลี
- “ตำราดูว่านและพระเครื่องพระบรมธาตุ” โดย ชัยมงคล อุดมทรัพย์ หน้า ๓๐
- “ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด” โดย พยอม วิไลรัตน์ หน้า ๕๗-๕๘
- “ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน” โดย อุตะมะ สิริจิตโต หน้า ๕๔-๕๕
- “ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์” โดย อาจารย์ชั้น หาวิธี หน้า ๑๗ เรียก มหาโชค
- “ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน” โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ หน้า ๑๘๗-๑๘๘
- “ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” โดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น หน้า ๓
- “กบิลว่าน ๑๐๘” โดย สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร หน้า ๑๙ เรียก มหาโชค
ตามตำรากล่าวถึงลักษณะโดยรวมคือ ว่านนี้เป็นว่านสำคัญและหายากมากอีกว่านหนึ่ง ปลูกเลี้ยงเอาไว้ก็ยาก เข้าใจว่าคงจะนิยมเลี้ยงกันมาตั้งแต่สมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีอยู่เหมือนกัน แล้วจึงเป็นมรดกตกทอดกันต่อ ๆ มาจนทุกวันนี้
ลักษณะ ใบเขียวเป็นมัน ก้านเขียว ใบคล้ายใบพลูหรือใบโพธิ์ฤาษี หัวกลมๆ เนื้อในหัวสีขาว ออกดอกในเวลาต้นปี คือในเดือนอ้าย หรือเดือนยี่ ครั้งเดียว ต้นและใบเท่ากัน เงาก็เท่าต้น ดอกสีขาวคล้ายสำลี
ประโยชน์ทางยา มีคุณเป็นยาบำรุงโลหิตให้งาม เอาหัวฝนกับเหล้าทาฝีต่าง ๆ ดีนัก หายขาดทุกอย่างเลย
ถ้าจะทำเป็นของในทางเสน่ห์ ให้เอาหัวว่านมาแกะเป็นพระภควัมอุ้มท้อง แล้วเอาคาถาต่อไปนี้เศก “สุขะยะ โคขะคันธานัง ศุขะโตสุขะทะรัง ปัจจะคำปาลีลัง พิจะกะ พะโรวะสิวัง พิกะพะ โรวัน นะมามินะ คะมะโต” เศกให้ได้ ๑,๐๐๐ ครั้ง แล้วเอารูปนั้นตั้งไว้ในที่สูง เป็นเสน่ห์ดีนัก บูชาไว้กับบ้านหรือร้านค้าขายของดีมาก
ถ้าเอาหัวว่านนี้มาแกะเป็นรูปนางกวัก ลงเลขยันต์อย่างว่านนางกวัก ก็ใช้ได้ดีในทางค้าขายเหมือนกัน และถ้าจะทำในทางเสน่ห์ ก็ให้เศกด้วยคาถานี้ “นะเมตตา โมกรุณา พุทธะปราณี ธายินดี ยะเอ็นดู ผู้ใดเห็นหน้ากู เมตตานะเมตตา สีติพระสีวาจะ มหาเถโร ลาภะลาภัง เวทะนานัง นะเมตตา โอมประสิทธิเม” ให้ครบ ๑๐๘ คาบ ไปที่ใดเอาติดตัวไปด้วย หาคนเกียจชังได้ยากมาก มีแต่ผู้นิยมรักใคร่นับถือ เหมาะสำหรับนักธุรกิจการค้าทั่ว ๆ ไป ควรหามาปลูกทิ้งไว้
อีกตำราหนึ่งกล่าวว่า ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นไป ให้เอาหัวมาแกะเป็นรูปนางกวัก เศกด้วยคาถาดังนี้ “อาระหังลาภี จะลาภานัง ลาภะ สักกาโร ชุติโต สัพเพเทวา สัพพะมะนุสสา ปิยังรักขันตะมัง มะนุสสาเทวา ทีปูชิโต อิติ” เศกให้ได้ ๑๐๘ คาบ ย่อมใช้เป็นเสน่ห์ทั้งแก่มนุษย์และเทวดาทั้งปวง
การปลูก ใช้ดินสะอาดกลางแจ้ง เอามาปลูกในวันอันเป็นมงคล อย่ากลบดินให้มิดหัวว่าน เหลือหัวโผล่ไว้นิดหน่อย อย่ากดดินให้แน่นหัวว่านนัก เวลารดน้ำเศกด้วย “นะโมพุทธายะ” ๓ จบ แล้วจึงรดพอดินเปียกทั่ว
ชื่อว่านมหาโชคนี้เป็นชื่อใหม่ความจริงแล้วอยากให้นักเลงว่านเรียกชื่อเดิมของเขาคือ “นางมาควดี” จะดีกว่า ว่านนี้ตำราของบัวปากช่องกล่าวถึงว่ามีชนิดที่ดอกออก ๕ กลีบด้วย ผู้เขียนเคยเห็นครั้งหนึ่ง เสียดายถ่ายรูปไม่ทัน จนแล้วจนรอดก็ไม่เห็นอีกเลย เพราะว่านชนิดนี้ออกดอกยากมาก และดอกก็ไม่สมบูรณ์จึงทำให้ในบางครั้งดอกจะติดๆกันมองดูเป็น ๕ กลีบได้
นอกจากนี้ยังมีว่าน อีกตัวที่มองดูคล้ายๆว่านในกลุ่มนี้แต่พบได้ง่ายกว่าเพราะให้หัวได้ง่ายนั่นคือ “ว่านมหาลาภ”
ว่านนี้มีกล่าวในตำราว่านเก่า หลายเล่มด้วยกันได้แก่
- “ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด” โดย พยอม วิไลรัตน์ หน้า ๖๓-๖๔
- “ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน” โดย อุตะมะ สิริจิตโต หน้า ๑๐๘-๑๐๙
- “ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์” โดย อาจารย์ชั้น หาวิธี หน้า ๑๗-๑๘
- “ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน” โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ หน้า ๓๑๕
- “ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” โดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น หน้า ๓-๔
- “กบิลว่าน ๑๐๘” โดย สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร หน้า ๑๒
ว่านมหาลาภ หรือว่านหงสาวดี นี้กล่าวถึงลักษณะโดยรวมคือ ลักษณะ ต้นและใบสีเขียว ใบคล้ายใบขมิ้นเล็ก ๆ หัวมีลักษณะเหมือนหัวหอม
ประโยชน์ ใช้เป็นว่านเสี่ยงทายโชคลาภดีนัก เป็นว่านหายากมาก(ในสมัยแรกๆ)
การปลูก ใช้ดินร่วน ๆ ปนทรายบ้างเป็นดินปลูก การรดน้ำ ก่อนรดต้องเศกด้วยคาถาดังนี้
“มหาลาโภ โหตุ ภวันตุเม” ๓ ครั้งแล้วจึงรด ระวังอย่าให้น้ำมากนัก หัวจะแฉะน้ำเน่าเสียก่อน ว่านนี้ไม่ชอบน้ำมาก
อีกตำราหนึ่งกล่าวว่า หัว, ต้น, ใบ, ก้าน, ดอก คล้ายว่านมหาโชคทุกอย่าง ผิดแต่ใบสั้นกว่า กลมกว่าเล็กน้อย
ประโยชน์ ปลูกไว้กับบ้านหรือร้านค้าใด ๆ ย่อมเกิดลาภผลทุกประการ เป็นว่านคู่กับว่านมหาโชค ถ้าหามาปลูก ทั้งมหาโชคและมหาลาภได้ทั้งคู่ จะนำลาภผลมาสู่บ้านนั้นไม่ขาดเลย.
ต้นนี้คือ Eucrosia bicolor มีดอกสีส้มแดง ลักษณะใบจะสีเขียวอ่อนและใบจะกลมๆป้อมๆก้านสั้นๆ แตกหน่อให้หัวง่าย จึงมีแพร่หลายมากในปัจจุบัน ว่านนี้จึงมีราคาถูกกว่าพวกทำให้บางครั้งนำมาขายเป็นว่านกลุ่มกวักที่มีราคาแพงก็ให้ระวังไว้ด้วยครับ
เรียบเรียงโดย อรรถวัติ กบิลว่าน
๑๗ ธ.ค. ๒๕๕๖ รีรัน ม.ค.๒๕๖๒
ทีมงาน: ssbedu.com