๔.การอาบว่านสายอีสานล้านช้าง และหลวงปู่สีทัตต์
เอกลักษณะของการอาบยาสายอีสาน คือการหมักดองยาด้วยน้ำหมอก(น้ำค้าง) สายหลวงปู่สีทัตต์ นอกจากจะนำยาหมักน้ำค้างมาอาบแล้ว ก็มีการนำน้ำค้างนั้นสักเข้าตัวอีกด้วย

หลวงปู่สีทัตถ์ ญาณสัมปันโณ ผู้สร้างพระธาตุท่าอุเทน พระธาตุพระพุทธบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี และมณฑปโพนสัน วัดพระบาทโพนสัน เมืองพระบาท แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว
เคยสงสัยเหตุใดต้องดองน้ำค้างด้วย ข้าฯยังหาใครมาอธิบายไม่ได้ แต่ปัจจุบันมีคนเก็บน้ำค้างมาใส่ขวดขายเป็นน้ำดื่มแล้ว เขาว่าโมเลกุลของน้ำจัดเรียงตัวกันแบบพิเศษมีผลดีต่อร่างกายมาก ไม่ทราบว่าเป็นเหตุผลเดียวกับโบราณจารย์หรือไม่??
คนไม่เคยนอนตากน้ำค้างกลางไพร คงนึกภาพไม่ออกว่าจะเก็บน้ำค้างมากมายได้อย่างไรจึงจะพออาบยากัน จริงแล้วภาคเหนือและอีสานในเขตภูเขาสูงน้ำค้างตกชุกนัก การเก็บน้ำค้างทำโดยใช้ผ้าห่มปูทิ้งไว้ เพื่อซับน้ำค้าง หรือใช้แผ่นสังกะสีรองน้ำหมอกให้ไหลลงภาชนะได้เลย
ขอตั้งข้อสังเกตคือ ทางอีสานเชื่อถือเรื่อง “พิศนุยา” จึงมีเคล็ดพิเศษมากมายในการเก็บยา เช่น จะไม่ใช้มีดหรือเหล็กตัดต้นยา และห้ามเอาต้นยาตีกับจอบเสียม เพราะจะแพ้กัน จะว่าไปแล้วบรรพชนอีสานมีความละเอียดอ่อนมาก จึงพิถีพิถันทุกขั้นตอนในการทำ จะเป็น “ลักษณะกินน้ำเห็นปลิง” นั้น ไม่ถูกใจคนอีสาน
๕.การอาบว่านแบบอาบได้ทุกวัน
เท่าที่พบมีหลายตำรามักเป็นตัวยาที่หาง่าย ใช้คล่อง ครูอาจารย์ของข้าฯอีกท่าน คือ หลวงปู่ชม วัดสามัคคี จังหวัดหนองคาย ผู้สืบวิชาธรรมสายเทียนพันน้ำมันหมื่น ท่านต้มยาอาบเป็นประจำทุกวัน ท่านเล่าให้ฟังว่าแม้แต่หลวงปู่พิบูลย์ วัดบ้านแดงท่านก็ต้มยาตำรับนี้อาบอยู่ทุกวัน
หลวงปู่ชมท่านว่า ตำรานี้นอกจากคงกระพันแล้วเป็นเมตตามหานิยม และผีกลัวอีกด้วย ข้าฯลองต้มอาบดู ก็เห็นว่านอกจากสรรพคุณดีทางไสยศาสตร์แล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาด้วย อาบแล้วสดชื่นมีกำลัง แก้แพ้แก้ผื่นคัน ทำให้มีกลิ่นกายหอมอีกด้วย การอาบน้ำว่านยังมีอยู่หลายตำรา ขอเล่าสังเขปเพียงนี้
๖.การเล่นแร่แปรธาตุ
การใช้ว่านในทางไสยศาสตร์ มีเรื่องหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง และเป็นฐานคิดของการเล่นว่าน คือต้องป้องกันมิให้ “วิทยาธร” มาขโมยคุณวิเศษของว่าน!!!
วิทยาธรนี้เดิมเป็นพวก “นักสิทธิ” ผู้คร่ำเคร่งกับการเล่นแร่แปรธาตุ เมื่อเขาสามารถทำ “ปรอทสำเร็จ” ได้จากว่านยาอาคมแล้ว เขาก็เหาะเหินไปชุบตัวในบ่อน้ำวิเศษที่ป่าหิมพานต์ ชุบตัวเองเป็นอมนุษย์ผู้เป็นอมตะชื่อว่า “วิทยาธร”
ด้วยเหตุนี้วิทยายาธร จึงติดนิสัย ลักขโมยว่านยาและโลหะวิเศษจากการเล่นแร่แปรธาตุมาตั้งแต่ตอนยังเป็นนักสิทธิ ดังนั้นวิชาว่านยาจึงเกี่ยวพันกับการเล่นแร่แปรธาตุอย่างใกล้ชิดยิ่ง
และนักเล่นว่านนี่เองบั้นปลายชีวิตมักผันตัวเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ ดังเช่น อ.หล่อ ขันแก้ว นักนิยมว่านชื่อดังแห่งจังหวัดนครปฐม ได้สร้างปรอทวิเศษไว้ประดับวงการเช่นกัน
ศาสตร์ในการเล่นแร่แปรธาตุในปัจจุบันมีผู้รู้น้อยมาก อาจเป็นเพราะผลผลิตหลักที่ได้จากการแปรธาตุ คือ “โลหะธาตุวิเศษ” ไม่ใช่โลหะตัวใหม่ตามวิชาโลหะวิทยาในปัจจุบัน อันมีค่าเชิงพาณิชย์ ที่จะจูงใจผู้คนให้มาศึกษาเล่าเรียน
แม้ว่าจุดมุ่งหมายหนึ่งของการแปรธาตุคือการทำ “ทอง” ก็ตาม เพราะในยุคนี้ เราเชื่อตามแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างแน่นแฟ้นว่า “ธาตุ” ไม่สามารถเตรียม(สร้าง)ขึ้นได้ แม้จะมีการทดลองยิงอิเล็คตรอนเข้าสู่นิวเคลียสของธาตุบางอย่างที่มีผลเป็นการเปลี่ยนเลขไอโซโทป ก็ตาม ก็ยังไม่มีผลการทดลองที่ยืนยันเป็นกิจจลักษณะ ว่า “เราสามารถสร้างธาตุเองได้ในห้องทดลอง” นั่นแปลว่า การทำทองยังเป็นเรื่องไกลเกินฝันในเชิงวิทยาศาสตร์
แต่เรื่องธาตุวิเศษ เป็นเรื่องของคติชน สำหรับกลุ่มคนที่เชื่อเรื่องของกายสิทธิ์ย่อมมีเป้าหมายในการแปรธาตุคือ “ธาตุ วิเศษ” อันได้แก่ ปรอทสำเร็จ และอัคคิยะ !!!
เพื่อความรวบรัด ข้าฯขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่องปรอทสำเร็จเท่านั้น
ปรอทสำเร็จ
“ปรอทสำเร็จ” คือ การทำปรอทที่มีสถานะเป็นของเหลว ให้เป็นก้อนในสถานะของแข็ง โดยเชื่อว่าเป็นของกายสิทธิ์ ตามขั้นตอนที่สูงขึ้น
ตามตำรากบิลว่าน และตำราว่านโบราณมีการกล่าวถึงว่านหลายตัวที่มีสรรพคุณวิเศษทางการเล่นแร่แปรธาตุ และทำให้ปรอทตาย(แข็งเป็นก้อน)
จากการสังเกต ว่านประเภทนี้มักมียางเหนียว ส่วนปรอทเป็นของเหลวสามารถ ไหลกลิ้งไปมาจับไม่ติด จนเป็นที่มาของคำกล่าวว่า “ไวยังกะปรอท” เมื่อยางว่านประเภทนี้ถูกกับปรอท ทำให้ปรอทซึ่งมีแรงตึงผิว(Surface tension )อยู่ในตัว ติดอยู่กับยางไม่เคลื่อนที่ไปไหน คนโบราณจึงเอาลักษณะนี้มาบรรยายว่า “ฆ่าปรอทได้” (คำว่าฆ่าปรอทนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งและนัยยะมาก โดยจะขอข้ามเนื่องไปจากเป็นหลักวิชาเฉพาะผู้เรียน)
ข้าฯพบว่ากระบวนการในการทำปรอทสำเร็จมี เรื่องของว่านยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ
๑.ขั้นทำให้ปรอทตาย(ทำให้ปรอทแข็งตัว) และ
๒.ขั้นตอนการปลุกฤทธิ์ของปรอท เช่น การแช่ยา และการโตน(เผาปรอทเพื่อชุบน้ำยา)

ตำราแปรธาตุของข้าฯที่ว่า “กายสิทธิ์ ตามขั้นตอนที่สูงขึ้น” ตัวอย่างในตำรานี้เช่น “สุม๑วันได้ปรอทชื่อ อิดีสิง สุมอีกสามวันได้ปรอทชื่อ ปุศคลึง สุมอีก๓วัน ชื่อ อะนุโลมสิธิ สุม๕วันชื่อ อุทกะสิทธิ สุมอีก๕ เป็นปรอท ชีวภาคโจต….นันทสิทธิ…สามสิทธิ์…สุพสิทธิ์….
ครั้งหนึ่งข้าฯกำลังทำปรอทตามตำราหลวงปู่สีพันดอน ซึ่งต้องนำปรอทหมักว่านยาสามชนิด จากนั้นต้องทำให้ปรอทแข็งตัวขึ้นโดยการบริกรรมหนุนธาตุดิน และกวนปรอทอยู่ในกระทะเหล็กขนาดใหญ่ ที่ไฟลุกสม่ำเสมอ จนกระทั่งปรอทมีอาการ “บัด” หรือเมาว่านยา ปรอทจะนอนนิ่งเป็นเม็ดทราย (กลายเป็นของแข็ง) มาถึงขึ้นนี้ต้องเอาปรอทมาหมักยาเพื่อหลอมให้เป็นก้อนใหญ่ขึ้น ระหว่างหมักยานั้น ท่านอาจารย์บอกข้าฯว่า อย่าประมาท ให้ระวัง วิทยาธรจะมาลักปรอทได้!! จงอย่าพูดคุยกัน!!
ข้าจึงดำเนินการทำอาณาเขตกันวิทยาธรไว้แล้ว ตามที่เรียนมา ในขณะที่ช่างกำลังหลอมปรอท ด้วยความชะล่าใจ
จึงคุยเล่นกันไปด้วย เมื่อปรอทเม็ดทราย ที่มีสถานะเป็นของแข็งแล้ว เริ่มละลายเป็นน้ำโลหะสีแดงเหมือนลาวา เริ่มไหลมารวมเป็นเนื้อเดียวกัน อยู่ๆก็เกิดแสงสว่างขึ้นแว๊บหนึ่ง!! ปรากฏว่าปรอทนั้นหายไปต่อหน้าต่อตา?? ช่างทองผู้หลอมปรอทตกใจหน้าเสีย!พูดแก้ตัวว่าเกิดมายังไม่เคยเห็นแบบนี้ หากโลหะหลอมเหลวเป็นน้ำสีแดงมารวมกันแล้ว มันไม่มีทางจะหายไปไหนได้เลย!!
ครูดาบของข้าฯเป็นท่านหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วย ท่านมีความชำนาญในการหลอมโลหะ ได้แต่สั่นหัว บอกว่าไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้เลย วิทยาธรเขามาเอาไปอย่างนี้เอง !!!

พระพิมพ์ขุนแผน รุ่นสามฝ้ายฟ้า ที่สร้างจาก ผงพุทธคุณ ยา. และฝังด้วยอัคคิยะ
เรื่องนี้คงเป็นรูปธรรมที่พอจะเห็นได้จากความเชื่อเรื่องวิทยาธร จึงขอยกเป็นอุทธาหรณ์ให้แก่นักเล่นว่านและนักเล่นแร่แปรธาตุเพราะนักเล่นว่าน และนักแปรธาตุมีคู่ปรับคนเดียวกัน คือวิทยาธร จอมลักขโมย นี่เอง ท่านจงอย่าประมาทละเลยเรื่องเหล่านี้
เรื่องเกี่ยวกับการแปรธาตุที่ชื่อ “อัคคิยะ” ยังไม่มีใครกล่าวถึงอย่างจริงจังนัก ข้าฯ ขอสงวนไว้ก่อน มีโอกาสคงได้เล่าสู่ฟัง
สำรับเรื่องการใช้ว่านภาคปฎิบัติที่เล่ามา ไม่อยากให้ผู้อ่านสนใจในรายละเอียดนัก อยากให้สนใจ เรื่องความคิดพื้นฐาน(basic thinking)มากกว่า เพราะนั่นทำให้เรามองภาพรวมของว่านไทยโดยเฉพาะเอกลักษณ์พิเศษ ของการเล่นว่านของเรา ความเชื่อเรื่องความวิเศษของต้นไม้มีอยู่ทุกชาติในโลก แต่ว่านไทยมีเอกลักษณ์ที่พิเศษยิ่ง
…..จนกว่าจะพบกันใหม่…..
“อ.น. นักสิทธิอีสาน”
ทีมงาน: ssbedu.com