การใช้ว่านทางปฏิบัติ ในมุมมิติศาตร์โบราณอันลึกซึ้ง ตอนที่ ๓

๓.)การฝังว่านศาสตร์ที่เริ่มสูญหาย

ข้าฯสนใจวิชาประเภทฝังของเข้าร่างกายมานานโดยความสนใจเริ่มจากเสภาเรื่อง”ขุนช้างขุนแผน” ที่กล่าวถึงแม่ทัพเชียงใหม่ที่ชื่อ “แสนตรีเพชรกล้า” ผู้ฝังเพชรและนิลตามเนื้อตัวร่างกายจนปูดโปน “โปเปาปุปปิบยิบทั้งกาย”

จนกระทั่งได้เรียนวิชาจำพวกฝังตะกรุด, ฝังเข็ม, ฝังเป๊ก และฝังจาก กับครูอาจารย์สายอีสานล้านนา คำว่า “เป๊ก” หรือ “จาก” ในที่นี้หมายถึงของวิเศษที่เราเอามาฝังเข้าร่างกายนี่เอง  สิ่งนี้นอกจากมีคุณวิเศษตามประเภทของที่ฝังแล้ว ยังสามารถเต้น กระตุก เตือนเหตุการณ์ดีร้ายให้ทราบล่วงหน้าก่อน

วัสดุที่นำมาเข้าเป๊กฝังจาก มีทอง กระดูกลิงลม งาสะเด็น ฟืม และเป็ก(พลอย) เป็นต้น

ในสายของหลวงปู่สีพันดอน(นามสมมุติ) ที่ข้าฯได้เล่าเรียนมา จะฝังวัสดุประเภทกระดูกลิงลม, งาช้างกระเด็น, ทองคำ เข้าสู่ผิวหนังร่างกายซึ่งเป็นข้อน่าฉงนในภูมิปัญญาของคนโบราณคือ  ทองคำ เป็นโลหะที่ร่างกายไม่ต่อต้าน แม้แต่กระดูกลิงลม ก็เป็น primate ที่ตระกูลใกล้เคียงกับมนุษย์จน แอนตี้บอดี้ ในร่างกายเราไม่ต่อต้าน   ข้าฯฝังจากให้ผู้คนมากหลาย ก็ไม่เคยปรากฎผลร้ายแก่ผู้ฝังจากเลย แต่กับการฝังว่านนั้น ว่านอาจเน่าเสียในร่างกายเราได้อย่างง่ายดาย และเป็นอันตรายมาก  วิชาฝังว่านจึงเป็นวิชาที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน

ผู้เขียนฝังเข็ม ให้คุณ อรรถวัติ กบิลว่าน

ในประเทศแถบฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย มีการฝังไม้ เข้าร่างกายเพื่อผลในทางไสยศาสตร์ เรียกว่า “ฮาริงบาแกว”(Haring bagal)  มีลักษณะเหมือนการฝังว่านของไทย ไม้ที่นิยมนำมาฝังเข้าตัว เช่น

ราชากายูที่ทำเป็นหัวแหวนแล้ว

          -“ราชากายู” ราชาแห่งไม้ ใช้ทางคงกระพัน เลิศทุกด้าน

กายูนิบง

-“กายูนิบง” เนื้อไม้เป็นลายคล้ายเกล็ดงูสีดำ  เป็นทางคงกระพันชาตรี

-”ตาลัสสะเกโร” มีรูพรุนสีดำ ใช้ทางกันไสยศาสตร์,

-“กายูตัส” สีน้ำตาลดำกันสัตว์ร้าย

กายูเดลิม่า

-“กายูเดลิมา” เพิ่มพลังทางกายภาพ,

-“บูจังการา” (ไม้ขึ้นในโลงศพ) ฯลฯ

ไม้เหล่านี้นอกจากฝังเข้าร่างกาย ยังนำมาทำหัวแหวนเครื่องรางด้วย “ฮาริงบาแกว” จะนำเอาเนื้อไม้มาทำเป็นแท่งฝังไว้ตามร่างกาย เช่น แสกหน้า เมื่อฝังเสร็จอาจมีการทดลองความคงกระพันด้วยดาบอันคมกริบ  ประหลาดตรงที่การฝังสิ่งเหล่านี้ยังไม่ปรากฏว่าเป็นอันตรายแก่ร่างกาย

การฝังว่านเข้าร่างกายที่พบมีสามลักษณะ คือ

๑.ผสมว่านกับขี้ผึ้ง และใช้เหล็กสักฝังตามร่างกาย

๒.ใช้ว่านชิ้นแห้งหรือชิ้นสด ฝังลงใต้ผิวหนัง

๓.ทำเป็นเม็ดยาฝัง

ในกรณีที่ ๒ ทางฝั่งลาวนิยมใช้ว่าน สบู่เลือด, เฒ่าหนังหยาบ, ว่านกระจาย, สบู่ตัง ฯลฯ

ข้อเสียของการฝังว่าน ผู้ฝังจะมีอาการที่สอดคล้องกับต้นว่าน เช่น ในหน้าฝน จะรู้สึกชุ่มชื้นมีพลัง บ้างก็จะเกิดผื่นตุ่มขึ้นเป็นตะปุ่มตะป่ำตามร่างกายพอหน้าแล้งผื่นนี้ก็จะหายไปเอง เหมือนว่านที่เติบโตขยายในหน้าฝนและยุบตัวในหน้าแล้ง วิชานี้ในชั้นหลังหาผู้รู้จริงยากมาก ขอให้ระมัดระวังก่อนจะฝังว่านเข้าร่างกาย

๔.)การอาบว่านยา

ว่ากันว่า หลวงพิชัยสงคราม(พ่อสุด)ผู้ตามถวายงานอนุบาลพระนเรศถึงหงสาวดี  ได้จัดพิธีกรรมอาบว่านยาให้แก่พระนเรศ ตั้งแต่พระองค์ทรงพระเยาว์ จนวรกายของท่านมีสีดำคล้ำ  ผู้คนจึงขนานนามท่านว่า “พระองค์ดำ”

การอาบยาแช่ว่านในประเทศไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ “การแช่ยาเขาอ้อ” โด่งดังมากจนกระทั่ง อ.ใหญ่ท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ออกโทรทัศน์เสียเลยว่า แช่ว่านยามีเฉพาะเขาอ้อเท่านั้น ข้าฯว่าโลกทัศน์ท่านแคบไปหน่อย ซึ่งเท่าที่พบศึกษาค้นคว้าร่ำเรียนมาข้าฯพบตำราอาบว่านมากกว่า ๓๐ พาก(ตำรับ)  จะขอกล่าวถึงดังนี้

๑.การแช่ว่านยาสายเขาอ้อ

“การแช่ยา” เขาอ้อเป็น master piece ของการแช่ว่าน เพราะต้องเตรียมการนานในการหาว่านยา  และกระบวนการละเอียดอ่อนมาก  การแช่ยาแต่ละครั้งจะสมบูรณ์สัก ๘๐ เปอร์เซนต์ก็ลำบากเต็มที     เท่าที่ทราบการเตรียมการแช่ว่านที่ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดมีในสมัย “หลวงยก” ท่านเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านแถบนั้น  ท่านบวชตอนอายุมาก เนื่องจากท่านเป็นลูกมือครูอาจารย์มาหลายสมัย ท่านจึงรวบรวมว่านได้สมบูรณ์แบบที่สุด

อ.ชุม ไชยคีรี ประกอบพิธีอาบน้ำว่านสายเขาอ้อ

ความลำบากประการสำคัญดังกล่าวคือการรวบรวมตัวยา  ซึ่งผู้รวบรวมต้องรู้จริง  เพราะยาบางอย่างอยู่ในป่าลึก บ้างอยู่ริมทะเล ยาบางอย่างมีอันตราย ต้องรู้จักการสะตุทำลายพิษ หรือต้องใช้ยาบางตัวมาแก้กัน

ที่ว่ายาอันตรายนอกจากเข้าตาอาจบอด เข้าหูอาจหนวกแล้ว เรื่องที่ไม่มีใครพูดกันคือ  การแช่ยาอาจมีผลต่อร่างกายหลายอย่าง  เช่น ปอดชื้น, กล้ามเนื้อเกร็ง, หูตาลาย, และมีผลให้สมอง คิดอะไรช้าลง ดังนั้น ครูอาจารย์แต่โบราณจะอาบว่านให้แก่คนที่มีอายุ ๔๐ ปีขึ้นไปแล้ว และต้องรู้วิธีป้องกัน  ส่วนอาการคัน ผิวหนังลอก ผิวเปลี่ยนสีถือเป็นอาการธรรมดา ของการแช่น้ำ(ยา)เป็นเวลานาน

ตำราในการแช่ยานั้นมีอยู่หลายตำรา(สูตร) บางสูตรยังไม่สามารถตีความได้ ตำราบางส่วนหายไป  ในปัจจุบันจึงเป็นการแช่ยาในสูตรที่รองๆลงมาจากอดีต

ในสมัยท่าน อ.ชุม มีชีวิตอยู่ท่านได้รื้อฟื้นตำราอาบว่านโดยต้องติดตามศึกษาจากหลายอาจารย์ จนพอใจ  และท่านจัดสาธิตการอาบว่านขึ้น  เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี๒๕๒๐ โดยท่านเลือก ตัวยาพิเศษที่เป็นสาระสำคัญจริงๆ และคัดว่านยาเสริม ที่ปลอดภัยที่สุด ดังนั้นการแช่ยาครั้งนั้นจึงปลอดภัยและได้ผลดีมาก

หลังการแช่ว่านของอ.ชุม มีการทดลองผล โดยของมีคมต่างๆ

ในยุคปัจจุบันนี้ ผู้ที่ประกอบพิธีแช่ยาได้ถูกต้องตามหลักวิชาผู้หนึ่งคือ อ. ประจวบ คงเหลือ  ผู้ที่ข้าฯกราบขอเป็นศิษย์ได้อย่างเต็มหัวใจ ความรู้ของท่านกว้างขวาง เป็นระบบมาก บางเรื่องท่านอธิบายได้ลึกซึ้งสามารถเชื่อมโยงความรู้โบราณเข้ากับความรู้สมัยใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง พูดได้ว่า ท่านเป็น “ทายาทแห่งสำนักเขาอ้อตัวจริง” ก็ไม่ผิด

อ.ประจวบคง เหลือ และผู้เขียน

๒.การอาบว่านยา สาย เมืองนันทบุรี

ครูบาอาจารย์เก่าเมืองน่านหลายคนประกอบพิธีอาบยาให้แก่ลูกศิษย์ บางท่านเป็นถึงพระผู้ใหญ่ในจังหวัด  ซึ่งข้าฯเคยเห็นบันทึกตำราลายมือของท่าน  แต่ที่โด่งดังในวงการไสยศาสตร์ คือ การอาบว่าน ของพ่อทอง บ้านสไมย์ ผู้สืบวิชาอาบน้ำว่านจากชาวขมุ

 

ตัวยาที่ใช้อาบว่าน

ท่านผู้นี้เป็นผู้สำเร็จวิชาคงกระพันในระดับสูง สามารถทดลองได้ทุกที่ทุกเวลา ของมีคมไม่อาจระคายผิวได้แม้ง่ามมือง่ามเท้า หรือแม้กระทั่งลิ้น ก็ทดลองเชือดได้ วิชาสุดยอดท่านมี ๒ อย่างที่โด่งดัง คือการเข้าแร่เข้าขาง และการอาบว่าน

ตำรานี้มีตัวยาที่บังคับไว้เพียง ๑๔ ตัว จึงมีผลดีในทางปฎิบัติมากกว่าการอาบว่านเขาอ้อ  การอาบว่านเขาอ้อโดยเนื้อแท้ของวิธีการอาบ คือนอนแช่น้ำยาในรางยาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ใช้เวลานาน  แต่การอาบสายขมุนี้ เป็นการเอาน้ำยาเทรดลงบนร่างคน เริ่มจากการรดจากปลายเท้าขึ้นมาส่วนบน   จากนั้นจึงรดจากท่อนบนของร่างกายลงสู่ปลายเท้า ในลักษณะนอนหงายเท้าพาดชี้ฟ้า

ผู้เขียน ประกอบพิธีอาบน้ำว่าน สายนันทบุรี

การอาบตำรานี้จึงอาบได้บ่อยๆ ยิ่งมากยิ่งดี  ตามตำนานว่ากันว่า เมื่ออาบจนเข้าเนื้อดีแล้ว การอาบครั้งสุดท้ายต้องอาบในลานวัด จะมีการทุ่มหม้อดิน ที่ต้มยาเดือดพล่านลงบนหัวของศิษย์  จนหม้อแตกกระจายเป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์ (ข้าฯนึกถึงบรรยากาศที่ครูท่านหนึ่งทุ่มหินลงบนตัว ข้าฯ ในขณะเรียนวิชาชาตรีเก้าเฮ)

การอาบยาสายนี้ทำให้ข้าฯเห็นแยบคายที่น่าทึ่งของบูรพาจารย์  คือนอกจากยา ๑๔ ตัวแล้วยังใส่ยาอีกสองชนิดลงไปคือ ฮ่อมเก่ว และชะเอมช้าง เพื่อไม่ให้เกิดอาการบวมพองจากการอาบยาร้อนๆ  โบราณจารย์ท่านรัดกุมจริงๆ

๓.การอาบว่านสายหลวงปู่กลั่น+หลวงพ่อกวย +อ.แปลก ร้อยบาง

อ.แปลก ร้อยบาง

ผู้อ่านคงพอทราบว่าท่านเหล่านี้เป็นใครบ้าง ตามบันทึกตำราของท่านทั้งสามพบว่าเนื้อแท้แล้วเป็นตำราเดียวกัน ที่นำมาเติมเต็มและอธิบายซึ่งกันและกันได้   และถ้าจะวิเคราะห์ให้ลึกลงไป ตำรานี้น่าจะมาจาก อีสาน-ล้านช้าง!

ในสามสายนี้ มีตัวยาเพียงไม่กี่ตัว จึงง่ายกว่าสายเขาอ้อในทางปฎิบัติ  แต่ต้องใช้อำนาจจิต และแรงครูสูงมาก เนื่องด้วยตำราได้พรรณาสรรพคุณไว้น่าตกใจ ในขณะขึ้นครูจะกระทำการต้องเตรียมอาวุธ ที่จะใช้ทดลองความคงกระพัน เข้าร่วมพิธีด้วย นอกจากนั้นต้องเตรียมมีดโกน, กรรไกร ที่ใช้ประจำมาเข้าพิธีด้วย!! เพราะอะไรหรือครับ?? เพราะหลังจากอาบว่านแล้ว ของที่ไม่ได้เข้าร่วมพิธี จะไม่สามารถตัดผม, ขน, หนวด ของเราให้ขาดได้ ว่ากันตามเรื่องคติชนนะครับ

โปรดอ่านต่อ ตอนที่ ๔ (ตอนจบ)….

อ.น. นักสิทธิอีสาน

ทีมงาน: ssbedu.com

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook
คะแนนเฉลี่ยที่ผู้อ่านให้
[จำนวนผู้โหวต: 5 คะแนนเฉลี่ย: 2.8]
Bookmark the permalink.

Comments are closed.