หลักการโดยทั่วไป
ประเพณีนิยมของไทยโบราณประการหนึ่งคือการถวายข้าวพระพุทธ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระมหากรุณาที่พระพุทธองค์ทรงโปรดสอน มรรค ผล นิพพานให้แก่ผู้ที่ยังข้องอยู่ในวัฏสงสาร อีกประการหนึ่งยังถือได้ว่าเป็นพุทธานุสติกรรมฐาน ซึ่งโบราณจารย์(หลวงปู่ดู่ วัดสะแก)ท่านกล่าวว่า “ใส่บาตรจนขันลงหินทะลุ ยังได้บุญไม่เท่าภาวนาจนเห็นแสงเท่าก้านไม้ขีด”(แปลว่าผลขอทานไม่สู้ผลของกรรมฐาน) และถือว่าเป็นฌานด้วย เพราะจิตเราห่วงอยู่เสมอว่า วันพรุ่งนี้เราจะเอาอะไรถวาย ตัวคิดในกุศลตัวนี้หากตัวทรงตัวก็เป็นฌาน อันนี้เป็นการปฏิบัติกรรมฐานในพุทธานุสสติกรรมฐาน(หลวงพ่อพระราชพรหมญาน วัดท่าซุง)
เทปคำสอนเกี่ยวกับการสัพเพอาหาร โดย หลวงตาม้า วัดถ้ำเมืองนะ
ก่อนทานอาหารนั้น หลวงตาม้า วัดถ้ำเมืองนะ ท่านแนะนำให้ ส่งวิญญาณให้บรรดาสัตว์ตายเหล่านั้นที่ต้องตกมาเป็นอาหารของเรา ให้ทำจนเป็นนิสัย แม้แต่บะหมี่หมูสับ น้ำปลา หรือของเล็กของน้อยก็ให้สัพเพฯส่งวิญญาณด้วย หลวงตาบอกว่าเนื้อไม่ว่าชิ้นเล็กชิ้นน้อย จะเป็นชิ้นหรือเป็นน้ำก็มีกระแสเชื่อมโยงถึงวิญญาณเจ้าของธาตุนั้นได้ ส่งให้เนื้อ กระแสบุญจะส่งถึงวิญญาณเอง คนที่ชอบทานมังสวิรัติ นอกจากไม่ทานเนื้อแล้วน่าจะทรงวิชานี้ด้วย
โดยให้โน้มจิตกลั่นอาหารให้เป็นของทิพย์ให้มีความใสสว่างดังแก้วมณีโชติ แล้วขึ้นไปกราบขอขมาพระฯ แล้วน้อมถวายภัตตาหารทิพย์นั้นแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามแบบอย่างที่หลวงปู่ดู่ท่านแนะนำ(หากยังขึ้นไปไม่ได้ให้นึกถึงหลวงปู่ดู่ก่อน ขอให้หลวงปู่ดู่นิมิตพาไป แล้วนึกน้อมเอาตาม) การทำเช่นนี้เป็นประจำขึ้นชื่อว่าได้ทำจาคานุสติกรรมฐาน พุทธานุสติกรรมฐาน ธรรมมานสติกรรมฐาน และสังฆานุสติกรรมฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดผลบุญหลายประการตามมา แล้วอย่าลืมส่งผลบุญนี้ อุทิศบุญกลับไปให้แก่บรรดาสรรพสัตว์และผู้เกี่ยวข้องกับอาหารทั้งหลาย ไม่ว่าจะคนปรุง คนฆ่า หรือคนปลูก คนซื้อมาให้ ผู้เกี่ยวพันเกี่ยวข้องทั้งหมด ตลอดจนสายใยอาหารทั้งหมดทั้งมวลด้วย โดยประโยชน์คือ
- ตัดเวรกรรมจากความอาฆาต
- เป็นกรรมฐานหลายกอง
- บุญบังเกิดถึงผู้เกี่ยวข้องกับอาหารทั้งปวง
- อาหารมีรสอร่อยขึ้น
ตัวอย่างวิธีการ(สามารถปรับปรุงได้ตามจริตครับ)
1. โน้มจิตเข้าสมาธิตามวิธีการที่ถนัดให้ได้สูงสุดตามกำลัง และเวลาอำนวย
2. ถอยจิตกลับมาที่อุปจารสมาธิให้จิตใจเบาสบาย (สภาวะที่คิดได้) อธิษฐานนึกถึงคุณพระรัตนตรัย
3. สัพเพฯ เพื่อแผ่เมตตาอุทิศบุญ โดยอาศัยบุญของพระฯ ให้แก่สรรพสัตว์ที่ตายไปและมาเป็นอาหารของเรา โดยเป็นการปรับภูมิ ตัดอาฆาต
4. โน้มกลั่นเนรมิตอาหารหยาบทั้งหลายให้ใสดั่งแก้วประกายพฤกษ์ (ทริคในการเพิ่มมูลค่า ของของที่นำมาถวาย)
5. โน้มนำอาหารทิพย์นั้นถวายโดยตรงต่อพระพุทธ พระธรรม พร้อมด้วยพระสงฆ์ทั้งหลาย อาจกล่าวเป็นบาลี เพื่อ อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมโบราณ ว่า อิมัง สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โภชะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ธรรมัสสะ สังฆัสสะ ปูเชมิ (ข้าพเจ้าขอบูชาด้วยโภชนะข้าวสาลี พร้อมด้วยแกงกับ และน้ำอันประเสริฐนี้แด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า)
6. อุทิศบุญอันเนื่องด้วยการถวายภัตตาหารทิพย์ ให้แก่ ผู้เกี่ยวพันเกี่ยวข้องกับอาหารทั้งหลาย สายใยอาหารทั้งหมดทั้งมวล ด้วยการโน้มนำพระไตรรัตนบารมี ด้วยบทสัพเพว่า สัพเพพุทธา สัพเพธัมมา สัพเพสังฆา พะลัป ปัตตา ปัจเจกานัญ จะยังพลัง อรหันตานัญ จะ เตเชนะรักขัง พันธามิ สัพพะโส พุทธัง อธิษฐามิ ธัมมัง อธิษฐามิ สังฆัง อธิษฐามิ (เป็นการแผ่เมตตาอุทิศบุญอีกเป็นครั้งที่ ๒)
7. กล่าวคำลาข้าวพระพุทธ ด้วยคำลาข้าวพระพุทธ ว่า เสสัง มังคะลัง ยาจามิฯ (ข้าพเจ้าขอคืนเศษอันเป็นมงคลนี้ ข้าพเจ้าขอภัตต์ที่เหลือที่เป็นมงคลด้วยเถิด)
8. รับประทานอาหารด้วยความสำรวม นึกกล่าวคำพิจารณาอาหาร “อาหารนี้ ข้าพเจ้าจะรับประทานเพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ให้มีชีวิตอยู่เพื่อกระทำความดี เพื่อปฏิบัติธรรมะ จะไม่รับประทานเพื่อบำรุงกิเลสตัณหา อุปาทาน ขอให้ผู้บริจาคทุกท่าน ผู้บริการทุกท่านและผู้รับประทานทุกท่าน จงมีอายุ วัณณะ สุขุ พละ ปราศจากโรคภัยอันตรายทั้งปวง เทอญ ..” (สามารถเพิ่มเติมการพิจารณาไปถึงอาหาเรปฏิกูลสัญญาได้ด้วย)
9. ตักอาหารมาแต่พอเพียง และทานอาหารอย่างรู้คุณค่าไม่ทิ้งไม่ขว้าง พึงระลึกเสมอว่า “ในขณะที่เราทานอาหารโดยสมบูรณ์พอเพียงอยู่นี้ ยังมีอีกลายคนในโลกที่กำลังอดอยากหิวโหย และอาจจะกำลังอดตาย…”
โดยสรุป
การถวายข้าวพระพุทธ สามารถกระทำได้ทุกครั้ง ก่อนที่จะรับประทานอาหาร…แม้ในที่ทำงาน เพียงแต่อย่าทำให้โดดเด่นนักเมื่ออาหารอยู่ต่อหน้า ก็ทำความ “สงบใจ” “ตั้งจิต” น้อมถวายข้าวพระ ชั่วอึดใจ…ก็กำหนดจิตลาข้าวพระ แล้วเริ่มรับประทานอาหาร โดยอาจไม่ต้องพนมมือให้เป็นที่สังเกต คนเขาไม่รู้ ปรามาสเอาจะเป็นโทษต่อเขาได้
ทริคเพิ่มเติม
อาจทำการขอบารมีพระฯโน้มจิตแยกอาหารให้มีจำนวนมากมาย แล้วอัญเชิญภพภูมิทั้งหลาย ตลอดจนสัมภเวสีทั้งหลาย เปรตอสุรกายทั้งหลาย ฯลฯ ให้มาร่วมรับประทานอาหารทิพย์ด้วยกัน โดยถือเป็นกุศโลบายหนึ่งในการครอบวิมาน เพียงแต่เปลี่ยนรูปจากวิมานเป็นอาหารทิพย์ เนื่องจาก ภพภูมิบางภพภูมิ ก็ไม่ได้ต้องการวิมาน เพราะปัญญายังไม่ถึง โมหะยังบังตา ครอบวิมานไปก็หลุดหายไปง่ายๆ ถ้าให้พลังงานบุญในรูปแบบอย่างอื่น ก็จะเป็นที่ชอบใจ ตรงกับความต้องการมากกว่า….
** วิธีการแบบนี้ สมัยโบราณก็มีปฏิบัติกัน อย่างเช่น เมื่อต้องเดินทางรอนแรมไปในที่ห่างไกล เวลาเข้าป่าเข้าเขา ก่อนทานอาหาร ก็จะตักข้าวพร้อมกับข้าวประมาณคำหนึ่ง ปูใบตองวางไว้ ทางทีก็เสริมด้วยเหล้าจอกหนึ่ง จุดธูป 1 ดอกบอกกล่าว เป็นการเซ่นสรวง แสดงความเคารพ และแสดงเมตตาจิต ต่อเจ้าที่เจ้าทาง ตลอดจนสัมภเวสีทั้งหลาย โบราณท่านสอนให้เป็นคนอ่อนน้อม และเมตตาต่อทุกผู้ทั้งที่เห็นตัวตนและไม่เห็นตัวตนก็ตาม…(บางทีไม่สะดวกก็เอ่ยปากเรียกกินอาหารพร้อมๆกันด้วยเสียดื้อๆก็ได้)
อนึ่งวิธีเรียกภพภูมิหรือเทวดามาร่วมทานอาหารนี้เป็นวิธีที่ หลวงพอดำ จันทาโภ วัดท่ายาง จ.นครศรีธรรมราช (ศิษย์พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์) ท่านปฏิบัติอยู่เป็นนิจเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของจิต จากการช่วยเหลือของเทพเทวดา (ในทางกรรมฐานถือเป็นเทวตานุสสติ)
อนึ่งหากแม้นนึกออกในช่วงที่ทานข้าวอยู่ แม้จะทานไปหลายคำแล้ว ก็ให้กล่าวขอขมาพระรัตนตรัย ว่า สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเตฯ แล้วถวายข้าวพระพุทธได้ เพราะเราโน้มธาตุทิพย์มิได้นำธาตุหยาบไปถวายครับ อีกประการให้โน้มนึกย้อนเวลาตอนที่ข้าวยังสมบูรณ์ก็ได้ครับ เมื่อทำเป็นประจำแล้ว จะมีสติระลึกได้ก่อนจะทานอาหารเสมอๆเองครับ
เรียบเรียงโดย
หมวดอรรถ
แหล่งข้อมูล
1. หลวงปู่ดู่ สอนเรื่องการจบของทำบุญ-อธิษฐานรับพร เพื่อให้ได้รับบุญ(สบายใจ) หลวงปู่ดู่ สอนเรื่องการจบของทำบุญ-อธิษฐานรับพร เพื่อให้ได้รับบุญ(สบายใจ) โดย Samrotri2517
2. ศรัทธาปฏิบัติ พุทธพรหมปัญโญ ภาคปฐมบท ศรัทธาปฏิบัติ พุทธพรหมปัญโญ ภาคปฐมบท โดย Attawat_Rx
3. การถวายข้าวพระ เข้าสู่ระบบ โดย คุณสิทธิ์
4. อานิสงส์ถวายข้าวพระพุทธรูป �ҹ�ʧ����¢��Ǿ�оط��ٻ โดย พระราชพรหมญาน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง
5. ถวายข้าวพระพุทธ http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/003829.htm โดย อติ
6. บทสวดพิจารณาอาหารก่อนรับประทาน แสดงกระทู้ – ~ ํ~บทสวดพิจารณาอาหารก่อนรับประทาน~ ํ~ • ลานธรรมจักร โดย Bwitch
7. การสัพเพอาหารโดยพิศดาร สำหรับพุทธภูมิ
ทีมงาน: ssbedu.com